Politics

ระทึก!! คาดน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานสี่ทุ่มคืนนี้

ทองเปลว กองจันทร์

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการเจ้าหน้าที่ทุกสำนักโครงการชลประทานในพื้นที่ที่จะเร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อนรายงานสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเตรียมแผนช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่เขื่อนแก่งกระจานซึ่งน้ำมากกว่า 97% ของความจุอ่างแล้ว ขณะที่ยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง คาดว่า น้ำจะล้นอาคารระบายน้ำล้น (Spill Way) ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีและจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น

ทั้งนี้ กรมชลประทานจึงเร่งพร่องน้ำหน้าเขื่อนเพชรบุรีและผันน้ำเข้าระบบคลองชลประทานให้เต็มศักยภาพ พร้อมกับเปิดทางน้ำระบายจากคลองส่งน้ำลงคลองระบายน้ำ คลองธรรมชาติ ลงอ่าวไทยให้เร็วที่สุดโดยเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30​ เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 44 เครื่อง ตลอดแม่น้ำเพชรบุรีจนออกทะเลให้เสร็จภายในวันนี้​ อีกทั้งยังเพิ่ม​เส้นทาง​การระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย​โดยใช้คลอง RMC3 ระบายน้ำผ่านคลอง D9 ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำ​แม่น้ำเพชรบุรี​ นอกจากนี้​ยังได้เตรียมพร้อมรถขุดตัก หรือ แบ็คโฮประจำไว้ในพื้นที่ 7คัน กรณีมีความจำเป็นต้องขุดเปิดเส้นทางน้ำซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่อาจล้นตลิ่งลงสู่พื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรด้านท้ายน้ำได้มาก

สถานการณ์​น้ำเขื่อนแก่งกระจานที่มีน้ำเต็มความจุ​ ศูนย์​ปฏิบัติการ​น้ำ​อัจฉริยะ​ (SWOC) ได้คำนวณปริมาตรน้ำที่ไหลเข้าอ่างที่ยังมากกว่าการระบายน้ำออกจึงคาดว่าน้ำจะเริ่มล้น Spillway เขื่อนแก่งกระจานในวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 22.00 น.​ การไหลของน้ำที่ล้น Spillway จะไม่ทำให้เขื่อนเสียหายแน่นอน อีกทั้งปริมาณที่ไหลผ่าน Spillway ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ ปรับขึ้น คล้ายกับการเอียงขันน้ำแต่น้อย เพื่อเทน้ำออกจากขัน ดังนั้น ต้องใช้ช่วงเวลาเวลาระยะหนึ่งกว่าน้ำจะไหลผ่าน Spillway เต็มที่

“​น้ำที่ล้น Spillway เขื่อนแก่งกระจานต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง​จึงจะไหล ​ไปถึงเขื่อนเพชรบุรี ซึ่ง​เขื่อนเพชรบุรีจะสามารถหน่วงน้ำส่วนนี้ ได้ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนน้ำที่เกินจากเขื่อนเพชรบุรีต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมงกว่าจะถึงอำเภอ​เมืองเพชรบุรี นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีที่พื้นที่ใต้เขื่อนแก่งกระจานไม่มีฝนตกและ ไม่มีน้ำท่าสะสม ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีจึงมีน้อยมาก สามารถรับน้ำได้อีก 150 ลูก​บาศก์​เมตรวินาที หรือวันละ​13 ล้านลูกบาศก์เมตร​”อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สิ่งสำคัญ​ที่สุด​คือ​ กรมชลประทาน​ได้เตรียมการป้องกันน้ำท่วม อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยใช้บทเรียนจากปี 2559 และ ปี 2560 โดยก่อนเข้าฤดูฝนได้เสริมคันกั้นน้ำ แม่น้ำเพชรบุรี ตรวจความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง ก่อนเกิดฝนตกหนัก ได้ขนย้ายเครื่องมือเครื่องสูบน้ำ​ เครื่องผลักดันน้ำ ไปยังจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เคยเกิดน้ำท่วม อีกทั้งพร่องน้ำโดยเร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี โดยเครื่องผลักดันน้ำ และ เครื่องสูบน้ำ จากทุกหน่วยงาน​ รวมทั้ง​ตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล ประกอบการวางแผนการเร่งระบายน้ำโดยติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง​ จึงมั่นใจว่า​ จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานครั้งนี้จะทำให้​การร่วมกันแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อน​ของ​ประชาชน​ได้มาก

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK