Politics

ฟังความอีกด้าน ผู้จัดแข่งโรบ็อตฮ่องกงแจง ไม่ได้บังคับให้ซื้อทัวร์

robotic hk สพฐ
สภาพสถานที่การจัดแข่งขันหุ่นยนต์ที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องการจัดส่งเด็กไทยไปร่วมแข่งขันโดย สพฐ. เมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ณ เกาะฮ่องกง

จากกรณีที่มีสมาชิกพันทิปรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ของประเทศไทยที่เกาะฮ่องกงภายใต้ชื่อรายการว่า International Robotic Olympiad 2018 โดยระบุว่าพบความผิดปกติบางประการเกี่ยวกับการเดินทางไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปหลายหมื่นบาทต่อคน สภาพพื้นที่การจัดงาน หรือกิจกรรมหลังจากจบการแข่งขันที่มีการพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวฮ่องกงต่อนั้น

ล่าสุดทางทีมงาน TheBangkokInsight ได้รับการชี้แจงจากฟากผู้ดำเนินการพาตัวแทนไทยไปร่วมแข่งขันอย่างนายปาล มานวิสุทธิ์ หรือเอ็ม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็ม รีพับลิค ซัพพลายส์ จำกัด โดยระบุว่า ได้มีการแจ้งค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมให้กับทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมได้ทราบแล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมมี 2 เรทราคาที่ 29,900 บาทสำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็น Early-Bird และ 32,900 บาทเป็นเรทปกติ แบ่งออกเป็นค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหารมื้อหลัก – อาหารว่าง ค่าเดินทาง และค่าบริหารจัดการในส่วนงานของประเทศไทย รวมถึงกระเป๋า เสื้อ บัตรเข้าร่วมงาน ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับค่าใช้จ่ายที่ทางเจ้าของกระทู้ระบุมาว่าต้องจ่ายถึง 35,000 บาทต่อคนแต่อย่างใด

ส่วนความเป็นมาของการเข้าร่วมการแข่งขันจากการเปิดเผยของนายปาลระบุว่า เป็นผู้จัดกิจกรรมพาเด็กไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันด้านหุ่นยนต์มาแล้วตั้งแต่ปี 2548 สำหรับรายการนี้ ทางผู้จัดงานได้มีการคัดเลือกตัวแทนในประเทศไทยก่อนถึง 12 อีเวนท์เพื่อไปร่วมการแข่งขันดังกล่าว

สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันนั้น ตามการเปิดเผยของนายปาลระบุว่า เป็นการลงทะเบียนออนไลน์ที่ดำเนินการโดยอาจารย์วรณัฐ หมีทอง และมีเอกสารยืนยันจากทางโรงเรียนว่าจะเข้าร่วม และทางผู้จัดงานที่เกาะฮ่องกงไม่มีการเก็บค่าเข้าร่วมการแข่งขันใด ๆ เพิ่มเติม แต่จุดที่ได้มีการตั้งข้อสงสัยบนโลกโซเชียลคือ การเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ต้องลงทะเบียนผ่านทางนายปาลเพียงรายเดียว ในส่วนนี้ นายปาลชี้แจงว่า

“ในโลกนี้ มันจะมี Nation Partner สองแบบคือแบบธรรมเนียมปฏิบัติคือทำด้วยกันมาตลอด อย่างที่ฮ่องกงทำร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2547 ส่วนอินโดนีเซีย เกาหลีก็เป็นอีกแบบหนึ่ง คือ Agreement ก็มี เป็น Nation Partner บนเว็บไซต์ก็มี”

คนทั่วไปไม่สามารถลงทะเบียนได้เอง?

“ถ้าลงทะเบียนไม่ได้ เขาก็จะส่งแบบฟอร์มลงทะเบียนมาที่เอ็ม”

คนทั่วไป (ที่อยากแข่ง) ติดต่อผ่านคุณเอ็ม แต่ไม่ซื้อทัวร์ได้ไหม?

“เราไม่เคยบังคับให้ใครซื้อทัวร์เลย และไม่เคยมีใครติดต่อที่จะไปเองเลย แต่สำหรับปีนี้ มีคุณแม่ของเด็กนักเรียนจากกรุงเทพคริสเตียนไปเอง เราก็ต้อนรับ แต่คือต้องบอกเลยว่า ตัวแทนจากประเทศไทย ทุกปีที่ไปจะต้องไปสร้างความวุ่นวายให้เขาในเรื่องที่แตกต่างกันทุกปี ทะเลาะกันเอง ไม่พอใจกันเอง แต่เด็กจีนหรือเด็กชาติอื่น ๆ แพ้ก็แค่ร้องไห้ แต่ประเทศเราจะมีดราม่าอย่างนี้ทุกปี ปีไหนไม่มีปัญหาถือเป็นเรื่องแปลก แต่ปีนี้กระทบในวงกว้างเพราะในกระทู้ระบุว่า โรงเรียนโนเนม ซึ่งโรงเรียนที่ไปกับเรามีทั้งมงฟอร์ตวิทยาลัย กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ พระหฤทัย โรงเรียนดัง ๆ เขาเริ่มไม่พอใจกับคำว่าโรงเรียนโนเนม”

ไม่ใช่แค่โรงเรียนโนเนมแล้วแข่งกันอย่างไร?

“มาจากทั่วประเทศ การแข่งขันจะมีสองกลุ่ม สองกติกา เพราะสพฐ.มีโรงเรียนมากกว่า 30,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ 1,000 กว่าแห่ง เพราะฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิเล่นในกติกาที่แตกต่างกัน อย่างมอเตอร์ตัวละ 70 – 80 บาท โรงเรียนวัด โรงเรียนบนดอย ก็สามารถเล่นในเลเวลที่ตัวเองเล่นได้ แต่ถ้าเป็นควบคุมด้วยรีโมตไร้สาย บังคับหุ่นยนต์ผ่านเทอร์โบมอเตอร์ตัวละ 700 – 800 บาท อันนี้จะเป็นโรงเรียนระดับกลาง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่แล้ว”

“กลุ่มเอกชนคือเอ็มบริหารจัดการ ใครพร้อมก็ไปแข่ง แล้วก็มีส่วนที่ สพฐ. ส่งมาร่วมด้วยอีก 40 คน สิ่งที่เสียหายที่สุดตอนนี้คือเด็กทุกคนที่ไปแข่ง ไม่สามารถเอาความภูมิใจตรงนี้ไปบอกเพื่อน ๆ ในโรงเรียนหน้าเสาธงได้เลยว่าเขาไปชนะมานะ”

robotic hk สพฐ
สภาพสถานที่การจัดแข่งขันหุ่นยนต์ที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องการจัดส่งเด็กไทยไปร่วมแข่งขันโดย สพฐ. เมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ณ เกาะฮ่องกง

เวทีนี้น่าไปอย่างไร?

“เวทีนี้เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือเวทีเดียวของโลก ที่เปิดโอกาสทางเทคโนโลยีให้กับเด็ก ๆ พูดตรง ๆ เรียกว่าโรงเรียนวัดก็เล่นหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ที่ฮ่องกง ค่าใช้จ่ายมันไม่สูง ใช้เศษไม้ ขวดน้ำพลาสติกมาประดิษฐ์ให้ตรงตามกติกา แล้วก็เอามาแข่งกัน เราก็เป็นคนจัดให้คนเหล่านี้มาแข่งกันได้ในระดับภูมิภาคที่ประเทศไทย ก็ออกทุนส่วนตัวบ้าง ขอสปอนเซอร์ได้บ้าง ก็เดินทางไปประมาณ 12 อีเวนท์แล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งคนที่อยู่ข้างนอกจะมองภาพไม่เห็น”

“ส่งแข่งมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว (ปี พ.ศ. 2548) เขาจะวนจัดกันไปที่ฮ่องกงบ้าง มาเก๊าบ้าง เซี่ยงไฮ้บ้าง แต่ปีหน้าที่จะได้รับผลกระทบและเอ็มต้องแจ้งความ เพราะเอ็มจะต้องเป็นพาร์ทเนอร์เขาในการจัดนานาชาติที่ประเทศไทยที่ห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต เราจึงได้รับผลกระทบ”

สพฐ.เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร?

“สพฐ. อยู่ในส่วนของการคัดเลือกงานหลักของเขา คืองานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภูมิภาคแล้วมาระดับชาติเช่นกัน เขาก็จะคัดเลือกเดอะเบสต์ของเขาด้านหุ่นยนต์ 6 ประเภท แล้วก็จะส่งมารวมกับทางเราจำนวน 40 คนรวมผู้ติดตาม เป็นเด็ก 24 คน ครู 8 คน และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมเดินทางไปด้วย 8 คน”

“เจ้าของกระทู้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรุ๊ปนี้เลย เหมือนจะเดินทางไปเอง ก็อาจจะเป็นลักษณะของผู้ติดตามจากโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งในภาคอีสาน แล้วก็มีการแอบอ้างหลาย ๆ อย่างในกระทู้ที่เขาไม่มีสิทธิทำ หรืออย่างภาพที่เขาเอาไปลงในกระทู้ทั้งหมดคือภาพตอนที่ปิดการแข่งขันแล้ว คิดดูว่าการจัดการแข่งขัน 80 สนามเขาก็คงจัดไม่ไหว ก็ต้องมีการสลับกันจัด สลับกันยกมาวาง”

จริงไหมที่จัดตรงทางเดินเชื่อมตึก? (การแข่งขันระบุว่าจัดขึ้นที่ Science Park ของเกาะฮ่องกง)

“อันนี้เป็นลักษณะของ Building 1 – Building 2 ตรงกลางจะเป็นแลนมาร์คของที่นั่นคือไข่ทองคำ และจะเป็นเหมือนอีเวนท์ฮอลล์ที่เป็นทางเชื่อมและเป็นห้องกระจกทั้งหมด ทางเชื่อมถ้าคนอ่านในกระทู้จะรู้สึกเหมือนเป็นทางเดินให้คนเดินสวนกัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ คนจุที่นั่นได้ 400 คน มีภาพยืนยันทั้งหมด”

สภาพการแข่งขันไม่ได้มาตรฐานจริงไหม เช่น เซนเซอร์พัง พื้นเอียง ระดับน้ำในสนามแข่งไม่เท่ากัน?

“ไม่มีครับ เซนเซอร์พังต้องเปลี่ยนกฎน่าจะมาจากหุ่นยนต์แข่งขันของชาติที่ไป และกรรมการเลยเปลี่ยนกฎให้ เพราะเขาไม่ได้แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย พื้นเอียงเป็นลักษณะสโลปของอาคาร ซึ่งทุกปีการแข่งขันส่วนนี้จะต้องอยู่นอกอาคารเพราะมันเลอะเทอะ (การแข่งทางน้ำ) เรือ หุ่นยนต์ หรือตัวบอดี้ของหุ่นยนต์จะต้องลอยได้อยู่แล้ว”

ดูเหมือนถ้าไม่มี สพฐ.ไปด้วย ปัญหาน้อยกว่านี้ไหม?

“ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเราสู้มาด้วยตัวเอง เรามีภาคี เรามีพันธมิตร เราทำมาตั้งแต่ต้น สพฐ. เพิ่งมาจอยกับเราเมื่อปี 2553 แต่จริง ๆ จากกระทู้ ตอนนี้ สพฐ. น่าจะเสียหายมากที่สุด แต่เขาก็ยังเงียบเนอะ”

“รายละเอียดและข่าวที่เกิดขึ้นในกระทู้บนพันทิปเนี่ย เขาก็ฉลาดพอสมควรที่ไม่เอ่ยชื่อ ซึ่งคาดว่าเขาไปกับกรุ๊ปด้วย แล้วเราก็มีเบาะแสแล้ว เราก็เลยไปแจ้งความที่ ปอท ไว้แล้ว อยู่ในกระบวนการ ไม่เกิน 30 วัน ทาง ปอท เขาจะเช็คไอพีและดูชื่อได้ว่าเป็นใคร อันนี้เราก็หยุดไม่ทำอะไรต่อ ก็ต้องรอกระบวนการตรงนี้”

ทั้งนี้ สำหรับทาง สพฐ. ล่าสุดทีมข่าวได้ติดต่อไปยังนางสาวสิริมา หมอนไหม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา และเป็นหัวหน้าคณะเดินทางในครั้งนี้ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ และยังไม่มีการชี้แจงเหตุผลในการเลือกเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวที่มีการส่งคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมถึง 40 คน รวมถึงไม่มีคำชี้แจงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ที่สูงถึง 29,900 บาทต่อคน หรือคิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.196 ล้านบาทแต่อย่างใด

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight