Politics

‘บิ๊กตู่’ ระทึก! ผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.วินิจฉัยปมถวายสัตย์ไม่ครบวันนี้

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี “นายกรัฐมนตรี” ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบบ่ายวันนี้ทันที

รักษเกชา 1.1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีการประชุมพิจารณากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ และนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ล่าสุดนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงมาว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติสำเร็จโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย แต่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุ “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…”

เมื่อนายกฯกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหา ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และเป็นไปตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (27 ส.ค. เวลาประมาณ 14.00น.) ส่วนรัฐบาลจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

อย่างไรก็ตามในส่วนของคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ร้องในประเด็นเดียวกันว่าหากการที่นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองนั้น

เมื่อผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีการถวายสัตย์ไม่ครบเป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่ได้เป็นประเด็นว่าข้อความหรือถ้อยคำในการกล่าวถวายสัตย์ฯมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นการกระทำก็เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมติให้ยุติเรื่องในส่วนของ 2 คำร้องนี้

Avatar photo