Politics

กลุ่มองค์กรครู ร้อง รมว.ศึกษาธิการ เร่งปฏิรูปการศึกษา-แก้หนี้ ‘ณัฏฐพล’ รับลูกหาแนวทางช่วย

ตัวแทนกลุ่มองค์กรครูทั่วประเทศ เข้าพบ  ตบเท้า เข้า พบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอปัญหาและแนวทางปฏิรูปการศึกษา ด้าน “รมว.ศธ.” เตรียมถกแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม พร้อมพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ1

นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และกลุ่มผู้แทนครูจากทั่วประเทศ ประมาณ 100คน เดินทางเข้าพบ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อแสดงความยินดีกับนายณัฏฐพล ที่เข้ารับตำแหน่ง พร้อมทั้งนำเสนอปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา

ทั้งนี้ ประเด็นที่นำเสนอ จะเป็นเรื่องโครงสร้างการบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปัจจุบับมีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เพียง 42 เขต ขณะที่มี 77จังหวัด ทำให้การบริหารงานในเขตพื้นที่ไม่คล่องตัว จึงต้องการให้มี สพม. ครบทุกจังหวัด รวมถึงเสนอการแก้ปัญหาหนี้สินครู ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้เข้ามาร่วม และการปรับหลักสูตรบางหลักสูตรที่ไม่สนองตอบยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

นายณัฏฐพล กล่าวว่า หลังจากรับฟังปัญหาความคิดเห็นที่สะท้อนจากองค์กรครูต่างๆ จะนำความเห็นเหล่านี้ มาประกอบกับข้อมูลของหน่วยงานในสังกัด ศธ. เพื่อที่จะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เช่น เรื่องโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ. หนี้สินครู หลักสูตร และงบประมาณต่างๆ เป็นต้น

ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ

ในเบื้องต้น เชื่อว่ามีแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่คงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากองค์กรครู และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยแก้ไขปัญหาผ่านนโยบาย ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาจากส่วนกลางเพียงทางเดียว เพื่อผลักดันการศึกษาไทยให้เดินไปข้างหน้าได้

“สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ คือ การหารือ ระหว่างตน ผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. และตัวแทนครู เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีและการเชื่อมต่อนโยบายบริหารงานให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับเสียงสะท้อนมาร่วมหารือกับผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา หาสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่สำเร็จ และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”นายณัฏฐพล กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงเรื่องร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ซึ่งหลายฝ่ายก็มีข้อกังวลใน 2-3 ประเด็น จึงขอเวลาไปศึกษาในรายละเอียด และความเป็นมาของกฎหมายดังกล่าวก่อน รวมถึงพิจารณาความกังวลในแต่ละจุด ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้

ในส่วนของการปรับโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ. ที่มีความต้องการให้เพิ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด นั้น ต้องปรึกษากับผู้บริหารองค์กรหลักในการดำเนินการ ทั้งเรื่องผลกระทบ งบประมาณ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการรับภาระด้านงบประมาณในระยะยาวก่อน ที่สำคัญคือ ต้องทำให้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight