Politics

กกต. สั่งย้าย ‘ณัฏฐ์’ พ้นรองเลขาฯ คาดสังเวยปัญหาเลือกตั้ง

กกต. สั่งย้าย “ณัฏฐ์”พ้นรองเลขาฯ  ไปนั่ง ผอ.สถาบันพัฒนาการเมือง และกาารเลือกตั้ง คาดเป็นผลมาจากการจัดเลือกกตั้งผิดพลาดหลายอย่าง มีผล 22 ก.ค.นี้

วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (15 ก.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในคำสั่งสำนักงาน กกต. เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานประเภทบริหารระดับสูง และคำสั่งเรื่องมอบอำนาจของเลขาธิการ กกต. ให้รองเลขาธิการ กกต.และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่แทน และได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งทั้ง 2 ฉบับไปยังสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานครแล้ว โดยให้คำสั่งดังกล่าวมีผลนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม เป็นต้นไป

ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล253621

ประเด็นที่น่าสนใจของคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ คือการปรับย้ายนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.ที่รับผิดชอบงานการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง แล้วเลื่อนตำแหน่ง นายไพบูลย์ เหล็กพรหม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กกต.รับผิดชอบงานด้านการมีส่วนร่วมฯ โดยให้นายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ กกต. ที่รับผิดชอบงานด้านการมีส่วนร่วมฯ ไปรับผิดชอบงานด้านบริหารการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติแทน

การโยกย้ายดังกล่าว เป็นไปตามกระแสคาดการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานว่า นายณัฏฐ์อาจพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว หลังจากการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา กกต.โดนโจมตีอย่างหนักว่า จัดการเลือกตั้งผิดพลาด ตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง และการกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ถูกกล่าวหาว่า เอื้อประโยชน์ต่อ คสช. และพรรคพลังประชารัฐ การจัดส่งบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์มาไม่ทัน จนไม่สามารถนับเป็นคะแนนได้ ความผิดพลาดในระบบการรายงานผลการนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลคะแนนการเลือกตั้ง หรือสูตรการคิดคำนวณจำนวน สส.บัญชีรายชื่อ ที่ค้านสายตาประชาชน รวมถึงการไม่สามารถชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ได้ ซึ่งภารกิจเหล่านี้ขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของนายณัฏฐ์

อย่างไรก็ดี การปรับย้ายครั้งนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงานเจ้าหน้าที่ กกต. ในเรื่องที่ว่า อาจดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะแม้ตำแหน่ง ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งจะมีชื่ออยู่ในระนาบเดียวกับตำแหน่งรองเลขาธิการ กกต. คือ บริหารระดับสูง แต่ก็เป็นตำแหน่งเทียบเท่า ที่รู้กันว่ามีศักดิ์ต่ำกว่ารองเลขาธิการ กกต. โดยในอดีตที่เคยปฏิบัติหากมีการปรับย้ายรองเลขาธิการ กกต. จะเป็นการเลื่อนขึ้นตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ปัจจุบันตำแหน่งดังกล่าวตามระเบียบบริหารงานบุคคลของสำนักงาน กกต. ปี 2561 ถูกกำหนดเป็นตำแหน่งวิชาการที่ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่ง

ใน กกต.ชุดที่แล้วเมื่อปี 2561 ที่มีการเลื่อนตำแหน่งนายกฤช เอื้อวงศ์ จาก ผอ. สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กกต. โดยไม่ผ่านกระบวนการสมัครสอบคัดเลือก ก็เกิดการร้องเรียนว่าตำแหน่ง ผอ.สถาบันฯเป็นแค่ตำแหน่งเทียบเท่า ไม่ใช่ตำแหน่งบริหารที่มีศักดิ์เท่ารองเลขาธิการ ซึ่งพนักงาน กกต.ส่วนมากก็เห็นด้วยกับข้อร้องเรียนดังกล่าว รวมทั้งเห็นว่าเมื่อนายกฤช เลื่อนขั้นเป็นรองเลขาธิการกกต.แล้ว การที่คำสั่งสำนักงาน กกต.ให้นายกฤช เป็นรองเลขาธิการ ที่อยู่ในลำดับอาวุโสน้อยกว่านายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ที่รับผิดชอบงานพรรคการเมือง เท่ากับสำนักงานฯ ยอมรับอยู่ในทีแล้วว่าทั้ง 2 ตำแหน่งไม่ใช่ตำแหน่งบริหารที่มีศักดิ์เท่ากัน โดยตำแหน่ง ผอ.สถาบันมีศักดิ์ต่ำกว่า

มิฉะนั้นแล้วคำสั่งสำนักงาน ต้องให้นายกฤชเป็นรองเลขาฯที่อยู่ในลำดับอาวุโสสูงกว่านายแสวง เพราะนายกฤช ขึ้นตำแหน่ง ผอ.สถาบันฯ ก่อนนายแสวงเข้าสู่ตำแหน่งรองเลขาฯ ทำให้การปรับย้ายนายณัฏฐ์ จากรองเลขาธิการ กกต.มาเป็น ผอ.สำนักพัฒนาการเมือง จึงถูกมองเป็นการลดชั้น และเป็นการลงโทษกรณีผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้ง

Avatar photo