Politics

เปิดประวัติ ‘พล.อ.เปรม’ นายกรัฐมนตรี 3 สมัย สู่ประธานองคมนตรี

ป๋าเปรม

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 เป็นบุตรคนที่ 6 จากทั้งหมด 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์)

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงคราม พล.อ.เปรม รับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่รัฐเคนทักกี เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ

พล.อ.เปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ป๋าเปรม” และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

พล.อ.เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521

ป๋าเปรม27122
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ณ บ้านสี่เสาเทเวศน์

ก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรก็เลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดย พล.อ.เปรม ดำรงนายกรัฐมนตรี 3 สมัยระหว่างปี 2523-2531

ในระหว่างรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม มีผลงานสำคัญมากมาย โดยเฉพาะการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม เป็นคนพูดน้อย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นขนานนามว่า “เตมีย์ใบ้” และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา นอกจากนี้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่มีภริยา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ

ป๋าเปรม104625

สู่ประธานองคมนตรี-รัฐบุรุษ

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

ทั้งนี้ มีนักวิชาการและสื่ออ้างว่า พล.อ.เปรม มีบทบาทเกี่ยวข้องกับวิกฤติการเมืองไทยและสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐบาลทหารหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ปฏิเสธข่าวนี้

ล่าสุด พล.อ.เปรม ได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ พลเอกเปรม ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

 

Avatar photo