General

ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศชี้ ไทย ‘แพะสังเวยมโนธรรม’ นานาชาติประณามไทย กรณี ’40 อุยกูร์’

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ “รัศม์ ชาลีจันทร์” ระบุ ไทยเป็น “แพะสังเวยมโนธรรม” กรณีต่างชาติรุมประณาม ส่งตัว “40 อุยกูร์” กลับจีน ยืนยัน ดำเนินการโดยยึดหลักมนุษยธรรม-ความถูกต้อง บนทางเลือกที่มีไม่มาก

วันนี้ (16 มี.ค.) นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns เกี่ยวกับกรณีที่หลายประเทศประณามไทย จากการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คน กลับไปยังจีน 

แพะสังเวยมโนธรรม

นายรัศม์ เขียนถึงเรื่องนี้ โดยใช้หัวข้อว่า ราคาของมนุษยธรรม ความถูกต้อง และการเป็นแพะสังเวยมโนธรรม (conscience scapegoat) ซึ่งเขาบอกว่า การชี้นิ้วประนามคนอื่น มักเป็นวิธีที่ง่ายกว่าเสมอ และบางทีก็ทำเพียงเพื่อได้แสดงว่าฉันเป็นคนดีนะ แล้วไปหาคนอื่นมาเป็นแพะ เพื่อสังเวยกลบเกลื่อนต่อมมโนธรรมของตนเอง

ทุกวันนี้ หลายประเทศที่เคยชูเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องเผชิญปัญหาเรื่องผู้อพยพ หลายประเทศเริ่มเนรเทศคนเหล่านี้ กลับไปยังประเทศต้นทาง ที่บ้างยังมีการสู้รบ และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ประเทศเหล่านี้ทำได้ ไม่เป็นไร ไม่มีใครประณาม แต่เรื่องนี้บ่งบอกความจริงประการหนึ่งว่า การอพยพไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม ไม่ใช่เรื่องสวยงามง่ายดายขนาดนั้น อย่างที่หลายคนชอบนึก เพราะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่แตกต่าง ที่ก็ไม่ได้อยากต้อนรับจริง มีการดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ ฯลฯ

มีประเทศหนึ่งบอกว่าขออย่าให้ไทยส่งตัวชาวจีนอุยกูร์กลับไปให้จีน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะรับคนเหล่านั้นไปอยู่ด้วยเอง โดยเสนอว่า จะให้เอาไปอยู่ในประเทศหนึ่งในแอฟริกา (ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏ ประเทศที่ว่ายังมีความขัดแย้ง การสู้รบและก่อการร้ายอยู่)

แพะสังเวยมโนธรรม

ถามว่านี่คือมนุษยธรรมแค่ไหน หรือเป็นเพียงแค่การเล่นเกมส์ในความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) ของบางประเทศแค่นั้น

เกณฑ์สำคัญในการพิจารณาการส่งคนกลับไปยังประเทศต้นทางว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่นั้น มีหลัก ๆ 2 ประการ คือต้องไม่บีบบังคับ และต้องไม่ส่งไปแล้วเขาจะมีภัยอันตรายต่อชีวิต

ในกรณีของชาวจีนอุยกูร์ 40 คนนั้น จึงต้องมาดูว่าเข้าข่ายนี้ไหม

ประการแรกเรื่องการบีบบังคับให้กลับ จากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนเหล่านี้ระหว่างถูกคุมขัง พวกเขามีการติดต่อกับญาติพี่น้อง และรับทราบถึงพัฒนาการความเจริญก้าวหน้า กินอยู่ดีของผู้คนในซินเจียงแผ่นดินเกิดของเขา และเมื่อทราบว่า ทางการจีนมีหนังสือรับรองสวัสดิภาพของพวกเขาเป็นทางการ พวกเขาก็เลือกที่จะกลับ

การเลือกกลับไปอยู่กับสังคมญาติพี่น้อง ถิ่นฐานของตนเองที่พัฒนาแล้ว อาจดีกว่ารอในห้องขังต่อไปโดยไม่รู้จุดหมาย และต้องไปอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ยินดีต้อนรับจริง

ประการที่สอง พวกเขาจะมีภัยอันตรายต่อชีวิตไหม เมื่อกลับไปแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์โดยมีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป (ที่ไม่ใช่การคิดเอาเองตามความเชื่อหรือสมมุติฐานส่วนตน) ซึ่งต้องมีการติดตามและตรวจสอบให้เป็นที่เชื่อถือได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ประเทศต้นทางได้ให้คำรับรองเป็นทางการ ที่เขาย่อมมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม

จากทั้งสองข้อนี้ เมื่อเทียบกับสิ่งที่หลายประเทศทำในการเนรเทศคนกลับประเทศต้นทาง ที่บางแห่งมีการใส่กุญแจมือ ใส่ตรวนที่เท้า รวมทั้งส่งไปโดยไม่มีการรับรองความปลอดภัยในสวัสดิภาพใด ๆ โดยคนเหล่านั้นอาจต้องเผชิญกับภัยอันตรายถึงชีวิต

แพะสังเวยมโนธรรม

คำถามคือใครกันแน่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่แน่นอนว่าการชี้นิ้วประณามไทยมันย่อมง่ายกว่า และอาจทำให้เขาไม่ต้องรู้สึกผิดกับมโนธรรมตนเองมากนัก
และในขณะที่หลายประเทศบอกไม่เชื่อในคำมั่นของจีน แต่ก็ยังคงมีปฏิสัมพันธ์ คบค้า ทำธุรกิจกับเขา

สิ่งนี้บอกถึงอะไร

ชาวจีนอุยกูร์เหล่านั้นถูกขังมานานกว่าสิบปีโดยไม่มีความผิด (โทษหลบหนีเข้าเมืองนั้นหมดอายุไปนานแล้ว)
การกักขังคนโดยไม่มีความผิด แม้เพียงวันเดียวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงไหม

แต่ก็น่าแปลกใจที่คนไม่น้อย รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชนบางท่าน กลับเห็นด้วยว่าควรกักขังเขาต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ไม่สามารถมีทางออกที่ดีกว่า และเป็นไปได้จริงมาเสนอ

ผลที่จะตามมาคือ พวกเขาจะต้องตายคาคุก ซึ่งพวกเขาได้เสียชีวิตระหว่างถูกกักขังไปแล้ว 2 คน

การที่ไทยตัดสินใจส่งตัวชาวจีนอุยกูร์ 40 คนกลับจีน จึงเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของมนุษยธรรม และความถูกต้อง บนทางเลือกที่มีไม่มาก แน่นอนว่าไม่ว่าเลือกทางไหน ก็ต้องมีผลกระทบมหาศาลตามมา เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งนั้น

นอกจากเสียจากจะเลือกวิธีขังเขาต่อจนตายคาคุกไป อย่างที่หลายคนเลือก และเป็นที่น่าเสียใจว่าเพื่อนของเราบางประเทศไม่เข้าใจ และเลือกที่จะประนามเราง่าย ๆ เลือกการหาแพะมาสังเวยมโนธรรมของตัวเองแทน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo