Politics

ซักฟอก ‘ล้มรัฐบาล’ ไม่ได้ เชื่อมีข้อมูลสำคัญ

“นิด้าโพล” เปิดมุมมองประชาชน 66.79% เชื่อ “ซักฟอก” มีข้อมูลสำคัญ แต่ “ล้มรัฐบาล” ไม่ได้  ประชาชนรอฟัง “‘อิ๊งค์-เท้ง” มากสุด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “จะได้อภิปรายแค่ไหน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสภา จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความวุ่นวาย หากมีการประท้วงในสภาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.08 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายบ้าง, รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า จะไม่มีความวุ่นวายเลย และร้อยละ 24.66 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก

ล้มรัฐบาล

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าจะมีความวุ่นวายมาก และจะมีความวุ่นวายบ้าง (จำนวน 966 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความวุ่นวายในระหว่างการอภิปราย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.38 ระบุว่า จะมีความวุ่นวาย แต่ประธานในที่ประชุมจะควบคุมสถานการณ์ได้, รองลงมา ร้อยละ 24.53 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก จนกระทั่งต้องมีการพักการประชุมบ่อยครั้ง, ร้อยละ 23.29 ระบุว่า จะมีการประท้วงกันจนการอภิปรายไปต่อไม่ได้

ร้อยละ 21.74 ระบุว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ และประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม (Walk Out) , ร้อยละ 20.50 ระบุว่าจะมีความวุ่นวาย จนกระทั่งประธานไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้, ร้อยละ 20.39 ระบุว่า จะมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เหมาะสมในสภา, ร้อยละ 13.25 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก จนกระทั่งมีการรวบรัดขอปิดการอภิปรายและลงมติเลย, ร้อยละ 4.45 ระบุว่า จะมีการต่อยตีกันเหมือนการประชุมสภาในต่างประเทศ และร้อยละ 3.00 ระบุว่า จะมีการปลุกม็อบนอกสภา

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลของฝ่ายค้านในการอภิปรายที่อาจนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 66.79 ระบุว่า จะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย แต่ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้, รองลงมา ร้อยละ 19.31 ระบุว่า จะไม่มีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้, ร้อยละ 11.30 ระบุว่า จะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย จนถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ และร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ล้มรัฐบาล

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของฝ่ายค้านตามข้อเสนอของประธานสภาฯ ให้ถอนชื่อคุณทักษิณ ชินวัตร ออกจากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 37.48 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรยืนยันตามญัตติเดิม และรอจนกว่าประธานสภาฯ ยอมบรรจุในวาระการประชุม

รองลงมา ร้อยละ 32.44 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรทำตามข้อเสนอเพื่อจะได้เปิดอภิปรายได้, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ, ร้อยละ 9.16 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอถอนญัตติ และเลิกล้มที่จะอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกสภาฯ, ร้อยละ 6.57 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรยืนยันตามญัตติเดิม และออกไปอภิปรายนอกสภาแทน และร้อยละ 4.27 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอถอนญัตติ และออกไปอภิปรายนอกสภาแทน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะเป็นไปตามกำหนดการเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.73 ระบุว่า จะเป็นไปตามกำหนดเดิม, รองลงมา ร้อยละ 38.32 ระบุว่า จะมีการเลื่อนออกไประยะหนึ่ง, ร้อยละ 4.43 ระบุว่า จะไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น และร้อยละ 2.52 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงนักการเมืองที่ประชาชนสนใจจะฟังในการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า

ร้อยละ 41.99 ระบุว่าเป็น นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร

ร้อยละ 34.35 ระบุว่าเป็นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน

ร้อยละ 11.83 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ล้มรัฐบาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight