ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 8 ต่อ 1 ไม่รับวินิจฉัย “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ตามที่ ครม.ร้องขอ ชี้เป็นเพียงการขอให้อธิบายหรือแปลความหมายเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับวินิจฉัยในคดีที่คณะรัฐมนตรี (ผู้ร้อง) มอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีปัญหาเกี่ยวกับ หน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 23/2567
การพิจารณาว่าบุคคลต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิด ฐานหมิ่นประมาท ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) (5) และ (3) รวมทั้งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ การเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจาก ตำแหน่งรัฐมนตรีต้อง ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ว่ามีขอบเขตหรือแนวทางการพิจารณาอย่างไร
ผลการพิจารณา
ศาลฯเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง กำหนดหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของ ประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมาตรา 158 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการ แผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
โดยรัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและ ประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามา มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ที่จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานบริหารราชการแผ่นดิน
การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) หรือไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) การเสนอบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวและเป็นผู้รับผิดชอบในการนำ ความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังกล่าว
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะเสนอเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือมีการกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจหลักไว้ในรัฐธรรมนูญ และการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ และอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงการขอให้อธิบายหรือแปลความหมายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) และ (7) และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 9 (5) ว่ามีความหมายขอบเขตเพียงใด อันมีลักษณะเป็นการหารือเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว
อีกทั้ง dรณีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นตามคำร้อง ซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรีก็เป็นอำนาจ ให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามพ.ร.บ.เฉพาะข้าราชการ การเมือง มิใช่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44
ศาลฯ จึงมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า บุคคลต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
สำหรับเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรมเห็นว่า เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 158 วรรคหนึ่ง มาตรา 160 (4) และ (5) และมาตรา 164 วรรคหนึ่ง (1) และเห็นว่า เป็นประเด็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนประเด็นอื่น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ไพศาล’ เตือนรัฐบาล ระวัง ‘หน้าแตก’ ชงนายกฯ ขอศาลอธิบาย ซื่อสัตย์-สุจริต
- ร้องอีก! ‘เรืองไกร’ ยื่น กกต. สอบนายกฯ ตั้ง ‘ภูมิธรรม’ คุมกลาโหม เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์หรือไม่
- ‘นายกฯ’ ส่งหลักฐานเพิ่มให้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ แล้ว มั่นใจในความจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx