Politics

เสี่ยงจิตเวช !! ย้ำผู้เสพ ‘กัญชา’ มีโอกาสเกิดโรคจิตเวช 72.3 %

กรมการแพทย์ ย้ำ “กัญชา” มีโทษ  เผยผลการศึกษาผู้ป่วยเสพติด “กัญชา” ที่เข้ารับบริการรักษาจากสถานบำบัดรักษายาเสพติดของรัฐ 6 แห่ง ทั่วประเทศ พบเป็นโรคจิตเวชสูงถึง 72.3 %

“กัญชา” กำลังเป็นพืชฮิตติดลมบน กระแสเทไปเป็นพืชให้คุณ เป็นยาวิเศษ ทำให้โทษของกัญชาถูกกลบไป กรมการแพทย์ต้องออกโรงย้ำถึงคุณ และโทษของ “กัญชา”

ลำไส้ 3
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยจัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นพืชที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่า 750 ชนิด สาระสำคัญที่พบมาก คือ THC และ CBD ซึ่ง THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และมีฤทธิ์เสพติด พบมากที่ช่อดอก จากการศึกษาพบว่าในทางการแพทย์ยอมรับว่า THC เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการอยากยา ถอนยาและเสพติด

โดยมีรายงานพบว่า ผู้เสพติดกัญชา เมื่อหยุดใช้จะเกิดอาการถอนยา เช่น อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ทั้งนี้ยังมีการศึกษา ถึงความเสี่ยงของการเสพกัญชากับโรคจิตเภท มีผลทำให้อาการทางจิต และการพยากรณ์โรคแย่ลง โดยเฉพาะคนที่มีกรรมพันธุ์ ที่จะเป็นโรคจิต หรือเคยมีอาการทางจิตมาก่อน เมื่อใช้กัญชาจะทำให้เกิดอาการทางจิตได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันข้อมูลผลการศึกษา พบว่า การใช้กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ในการรักษาโรค/ภาวะของโรค อาทิ โรคลมชักที่รักษายาก อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคปวดประสาทที่ดื้อต่อยารักษา เป็นต้น

ดังนั้นข้อดี และข้อเสียของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ จึงต้องพิจารณา ทั้งในด้านความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้น และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขอย้ำว่าการนำกัญชามาใช้กับผู้ป่วย ควรได้ประโยชน์ หากมีความเสี่ยงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

1524717548412 1
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ มีแนวโน้มจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ แต่กัญชายังเป็นยาเสพติด ที่ส่งผลกระทบต่อผู้เสพ ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ

สบยช. ได้ทำการศึกษาการเกิดโรคทางจิตเวช ในผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเป็นยาเสพติดหลัก ที่เข้ารับการบำบัดรักษา ในสถานบำบัดรักษายาเสพติดของรัฐ 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สบยช. โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี จำนวน 1,170 ราย

โดยเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี (ปีงบประมาณ 2553-2559 ) พบว่า ผู้ป่วยเสพติดกัญชาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 22 ปี โสด ไม่ประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ใช้กัญชาแห้งด้วยวิธีการสูบ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยเสพติดกัญชามีการเกิดโรคจิตเวชสูงถึง 72.3 % รองลงมาคือ โรคจิต อารมณ์แปรปรวน และวิตกกังวล ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแนวคิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือใช้เพื่อเป็นยา ควรเป็นไปตามหลักฐานยืนยันทางวิชาการที่ชัดเจน มีคุณภาพและเชื่อถือได้  ในส่วนของโทษ และผลกระทบของการใช้ในทางที่ผิด ควรมีระบบ และแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุม ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และประโยชน์ของผู้ป่วย และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

Avatar photo