Politics

ปชป.ระอุ!! วัดพลังสส.ใหม่เทใจเลือก ‘หัวหน้าพรรค’

นับจากนี้คงเหลือเวลาอีก 10 กว่าวัน ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จะมีงานใหญ่อีกครั้งนั่นคือการเสนอชื่อเพื่อชิงหัวหน้าพรรคในการประชุมใหญ่ 15 พฤษภาคมนี้  แต่ข้อสำคัญครั้งนี้จะไม่มีการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคเหมือนเมื่อครั้ง  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แข่งขันกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ อลงกรณ์ พลบุตร องค์ประชุมทั้งหมด อยู่ที่ 307 คน การคำนวณแบ่งเป็น 2 ส่วน คือสส.ใหม่ ประมาณ 52 คน มีน้ำหนักโหวตอยู่ที่ 70% ในการคำนวณคะแนน

ส่วนที่สองเป็นองค์ประกอบจาก กก.บห.พรรคชุดเก่า อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มหัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนจังหวัด กลุ่มตัวแทนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชุดล่าสุด 25 คน  ส่วนนี้จะมีน้ำหนักรโหวตเพียง 30%

เปิดศึกชิงหัวหน้าพรรค11

บุคคลที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุม ณ ขณะนี้มีอยู่ 4 คน นั่นคือ

1. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  

2. กรณ์ จาติกวณิช

3. อภิรักษ์ โกษะโยธิน

4. พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค

แต่ละคนล้วนมีกองเชียร์ที่ต่างกัน หากวิเคราะห์รายบุคคล และน่าที่จะเป็นจุดเริ่มต้นคาดเดาได้ว่าใครคือผู้จะเข้ามากุมบังเหียนพรรคคนต่อไป

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ด้วยบุคคลิกที่เรียบง่าย อาจจะไม่หวือหวา แต่เป็นคนเก่าคนแก่แห่งประชาธิปัตย์ กองหนุนของจุรินทร์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ของพรรค ไม่ว่าจะเป็นชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน หรือแม้แต่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เรียกว่าสายนี้มีขาใหญ่คนรุ่นเก๋าให้การสนับสนุนเต็มที่ และก็ไม่แปลกใจที่ล่าสุด จุรินทร์ ประกาศดึงเอา เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2554 เข้ามาเสริมทีมอีกครั้ง เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2544

เฉลิมชัย 1
เฉลิมชัย ศรีอ่อน

กรณ์ จาติกวณิช แม้จะไม่ใช่สายเลือดแท้ของประชาธิปัตย์ แต่ก็ได้ทิ้งความเป็นนักธุรกิจก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง เมื่อประมาณปี 2547 ก่อนได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อปี 2548 กรณ์ เข้ามาอยู่ร่วมชายคาพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการชักชวนของ บัญญัติ บรรทัดฐาน ร่วมๆ15 ปีแล้วที่ กรณ์ อยู่ร่วมชายคาประชาธิปัตย์ ถือเป็นคนหนุ่มฝีปากกล้าคนหนึ่ง แต่วันนี้ กรณ์ ได้ประกาศตัวลุกขึ้นมาแข่งเพื่อชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ถือเป็นมิติใหม่ พร้อมกับดึงเอา ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.ตากเป็นเลขาธิการพรรคให้ทีม

ชัยวุฒิ223
ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์

แต่สิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่งยวด กรณ์ จะได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงคะแนนมากน้อยแค่ไหน จะมีแรงหนุนมากพอที่จะโค่น คนเก่าแก่อย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้จริงหรือไม่

อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง เริ่มจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในนาม พรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2547 ต่อมาปี 2548 อภิรักษ์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ปี 2552 อภิรักษ์  รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2553-2554 เป็นส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร

ฉะนั้นการตัดสินใจลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ ถ้าจะบอกว่าอภิสิทธิ์ ไม่รู้เรื่องเลยก็คงจะยาก ส่วนจะสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อมอีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญเวลานี้ยังไม่แพร่งพรายว่าจะดึงใครเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคให้กับทีม

พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เขตห้วยขวาง ดินแดง ในปี 2539 เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว  แต่ที่น่าสนใจวันนี้ พีรพันธ์ แอบดึงเอา ถาวร เสนเนียม เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคให้กับทีมซะแล้ว

ถาวร22
ถาวร เสนเนียม

ฉะนั้นการเลือกหัวหน้าพรรคของประชาธิปัตย์รอบนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง หัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใคร จะได้รับแรงสนับสนุนจากสส.ใหม่แค่ไหน ตรงนี้ต่างหากที่กำลังเป็นเครื่องชี้ชะตาอนาคตพรรค นั่นหมายถึงว่า พรรคประชาธิปัตย์จะนำพาองค์กรไปสู่การฟื้นฟู สร้างแรงศัทธาอย่างไรที่จะให้กลับมาเป็นประชาธิปัตย์ในอดีต ไม่ใช่ประชาธิปัตย์อิสระ กระเจิงอย่างที่เป็นอยู่

หัวใจสำคัญอาจจะเป็นเกมพิสูจน์คนรุ่นเก่าๆยังจะได้รับการยอมรับจากสส.ใหม่หรือไม่ จะยังพอมีแรงศัทธาปั้นสถาบันแห่งนี้ให้เป็นที่ศัทธาของแฟนคลับประชาธิปัตย์อีกต่อไปอย่างไร

แต่หากคำนวณตัวเลขเคร่าๆ ของสส.ใหม่ประมาณ 52 คน ดูเหมือนเป็นในส่วนของสส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้ประมาณ 19 คน ส่วนที่เหลือเป็นสส.เขต ในจำนวนนี้สส.ใหม่ส่วนใหญ่เป็นของภาคใต้น่าจะประมาณ 22 คน ที่เหลือก็กระจายไปตามภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคอื่นๆ

เกมเลือกหัวหน้าพรรคเท่ากับเป็นการวัดพลังว่า สส.ใหม่ภาคใต้ จะเอาอย่างไรกับหัวหน้าใหม่ ในฐานะเสียงข้างมากเวลานี้  หากสส.เขตภาคใต้ยังคงเทใจให้กับจุรินทร์  ได้จริง หัวหน้าพรรคคนใหม่ก็อยู่แค่เอื้อม!!

ส่วนใครที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ภารกิจสำคัญจะทำอย่างไรให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดอยู่ได้ รวมถึงการตัดสินใจทางการเมืองว่า“เป็นรัฐบาล” หรือ“ฝ่ายค้าน” ทั้งหมดคำตอบอยู่ที่ 15 พฤษภาคมนี้ แต่หวังว่าการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้คงไม่ทำให้ประชาธิปัตย์“ร้าวฉาน”ไปกว่าที่เป็นอยู่ แม้สถานการณ์ตอนนี้จะเป็น“ศึกร้อนระอุ”ก็ตาม ก็ด้วยศึกในประชาธิปัตย์กันนั่นเอง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight