“เรืองไกร” ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ตรวจสอบนายกฯ กรณีเสนอชื่อ “ภูมิธรรม” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์ เข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
วันนี้ (8 ก.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่
และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า การที่นางสาวแพทองธาร เลือกนายภูมิธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งก่อน และหลังการแต่งตั้ง และมีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนทั่วไป จนนายภูมิธรรมต้องออกมาขอให้อย่ารื้อฟื้นอดีตสมัยเข้าป่า และบอกว่าจำภาพสหายใหญ่เมื่อ 50 ปีไม่ได้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดในคำวินิจฉัยที่ 21/2567 ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็สามารถนำเรื่องการตีความเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 มาป็นแนวบรรทัดฐานได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าวต่าง ๆ ซึ่งเผยแพร่โดยทั่วไป เข้าถึงได้ง่าย นางสาวแพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธว่าไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของนายภูมิธรรมดังกล่าว ย่อมมิอาจรับฟังได้ อีกทั้งนายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “เหตุผลอะไรที่นายกฯ ให้มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องไปถามนายกฯ เอง”
ตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป สหายใหญ่ เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ ประกอบกับต้องรู้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้น การที่นางสาวแพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อนายภูมิธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เรืองไกร’ ยื่น กกต. ชงสอบ ‘ปดิพัทธ์’ ปมบุกทำเนียบ 1 มี.ค. ทำพ้น ส.ส. หรือไม่
- ‘เรืองไกร’ ยื่น ‘สว.’ สอบคุณสมบัติ ‘เศรษฐา’ หลัง ‘ชูวิทย์’ แฉปมที่ดิน
- ‘เรืองไกร’ ชู 7 ข้อ จี้ ป.ป.ช. รีบส่งศาลฎีกา ’44 ส.ส.ก้าวไกล’ ผิดจริยธรรมหรือไม่
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter) : https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx