Politics

เปิดผลการประชุม ครม. นัดพิเศษ หลัง ‘เศรษฐา’ พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

“ภูมิธรรม” เปิดผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ หลัง “เศรษฐา” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยัน ครม. ที่เหลือยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ ครม. ใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรี

โดยนายภูมิธรรม แถลงผลการประชุม ครม. นัดพิเศษ โดยระบุว่า วันนี้ ครม.ได้ประชุมวาระพิเศษ สืบเนื่องจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรี โดยมติ ครม.วันนี้เรื่องแรกพิจารณาแล้วเห็นว่าโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ครม. ที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญฯ ตามมาตรา 10 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับที่ 5 พ.ศ.2545 บัญญัติให้ในระหว่างที่ ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นมาจะเข้ารับหน้าที่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง ให้ ครม. มอบหมายให้รองนายกฯคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมติมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ

เรื่องที่สองเห็นชอบตามแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. กรณีศาลวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (4) ดังนี้

นายกรัฐมนตรี

1. สถานะของ ครม.และรัฐมนตรี โดย ครม.สิ้นสุดลงแต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ ไม่ให้เรียกว่ารักษาการ และได้รับเงินเดือน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

  • ครม. ยังมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานะการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่นประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึกเป็นต้น
  • การลงชื่อตำแหน่งของนายกฯ ยังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง
  • ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่นายกฯแต่งตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด
  • ให้คณะกรรมการที่นายกฯแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินและรองเลขาฯนายกฯฝ่ายการเมืองประจำนายกฯยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

2. หลักการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.

  • เรื่องที่เป็นนโยบายใหม่ซึ่งมีผลผูกพัน ครม.ชุดใหม่ ไม่ควรพิจารณา
  • เรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต่อเนื่องให้พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ

ทั้งนี้ หลังประชุม ครม. เสร็จแล้วหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้มีข้อสรุปวันเดียวกันนี้เวลา 16.00 น. ที่อาคารชินวัตร 3 พรรคเพื่อไทย โดยกรรมการบริหารพรรคจะประชุมเพื่อเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคทุกพรรคจะไปร่วมกันแถลงเพื่อยืนยันการเสนอชื่อนายกฯ ที่จะเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ในวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 10.00 น.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK