Politics

‘เศรษฐา’ แจงสภาปมงบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน ลั่นจำเป็นใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

“เศรษฐา” แจงตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท ยันรัฐบาลจำเป็นใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ยืนยันจะใช้ภาษีประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนโดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้

เศรษฐา

จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้านบาท) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 122,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้านบาท) จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

  1. ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท)
  2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท)

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

เศรษฐา 17767004

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1-1.1% (ค่ากลาง 0.6%) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการอื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 10,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ฐานะการคลัง

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 11,523,700.9 ล้านบาท คิดเป็น 63.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 394,259.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ฐานะและนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมถึงแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และภาค SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินการที่สอดประสานกันระหว่างภาคการเงินและการคลัง ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 จำนวน 221,069.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีรายได้รัฐบาลจำนวน 10,000 ล้านบาท และขาดดุลงบประมาณจำนวน 112,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 24,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของวงเงินงบประมาณและรายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของวงเงินงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนก

ตามกลุ่มงบประมาณและจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกเป็นกลุ่มงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงินรวมทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของวงเงินงบประมาณ และได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกำหนดไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เศรษฐา 17767003

โดยสรุป งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวม กับกรอบวงเงินเดิม ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท

โดยเมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ 17.1% และคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณ รวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK