Politics

‘รมว.ยุติธรรม’ ลั่นเป็นสิทธิ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยื่นขอความเป็นธรรมคดี ม.112

“รมว.ยุติธรรม” ลั่นเป็นสิทธิ “ทักษิณ ชินวัตร” ยื่นขอความเป็นธรรมคดี ม.112 ได้ ปัดตอบยื่นฟ้องยุค คสช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร​ อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในคดี ม.112 ว่า​ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ต้องสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะเป็นส่วนของกระบวนการยุติธรรม​ และยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดในการตัดสิน

ทักษิณ ชินวัตร

ผู้สื่อข่าวถามว่าตามหลักการเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมคดีทางอาญาจะเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตลอด ไม่มีการห้ามในขั้นตอนใด และอำนาจการพิจารณาเป็นของอัยการสูงสุดเช่นกัน

เมื่อถามว่าลักษณะเช่นนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนผู้ทำคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า ผมไม่ทราบรายละเอียด และจากที่ฟังโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่ายังไม่ได้รับเรื่อง จึงยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่อยากตอบคำถามสมมติ เพราะอาจจะสับสน ซึ่งที่ผ่านมาการร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดมีทุกคดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าว

เมื่อถามว่าข้ออ้างที่ว่า คสช. ข่มขู่พนักงานสอบสวนฟังขึ้นหรือไม่​ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า หลักใหญ่เรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบนั้น เป็นหลักสำคัญของคดีอาญา เช่น พนักงานสอบสวนมีอำนาจหรือไม่ หรือพนักงานสอบสวน สอบสวนโดยชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน หรือพยาน หรือส่วนอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการบังคับขู่เข็ญ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อให้เกิดการจูงใจ ซึ่งเป็นประเด็นสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้

ทักษิณ ชินวัตร
นายทักษิณ ชินวัตร

เมื่อถามว่าคดีมาตรา 112 ของนายทักษิณผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจรับเป็นเจ้าภาพในการแจ้งความดำเนินคดีในขณะนั้น พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า อำนาจการสอบสวนจะมีแค่พนักงานสอบสวน ทหารไม่ใช่พนักงานสอบสวน และถ้าเป็นคดีพิเศษก็จะเป็นอำนาจของกรมคดีสอบสวนพิเศษ ถือเป็นขั้นตอนตามปกติ

เมื่อถามว่ายืนยันว่า คสช. ใช้ช่องทางตามปกติในการดำเนินคดีกับนายทักษิณใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนจะเป็นตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือคนอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะ การปรับ เรื่องการสอบสวนของ ก.ตร. ก็สามารถดำเนินการได้

เมื่อถามว่าในสมัยนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ยื่นฟ้องถือว่าชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า สรุปไม่ได้ ต้องไปดูว่าเขาจะไปต่อสู้ ว่าการสอบสวนมีอำนาจและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีการบังคับขู่เข็ญ หรือการจูงใจ ถือเป็นการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ เป็นประเด็นในรายละเอียดแต่ละเรื่องไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK