“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะ คสช. เคาะ 5 มาตรการต้าน “บุหรี่ไฟฟ้า” ชง ครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ พร้อมสั่งติดตามสำรวจทุก 6 เดือนรายงานผลการลดลงของปัญหา
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่
5 มาตรการต้านบุหรี่ไฟฟ้า เตรียมเสนอครม.
- พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
- สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
- เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
- พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
- ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จำนำมติเสนอครม. เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำรวจทุก 6 เดือนเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง
ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้ยังให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเกาะติดอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ และอยากให้มีการสำรวจทุก 6 เดือน เพื่อประเมินผลตามาตรการที่กำหนดไว้
บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่นๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง
อีกทั้งปัญหายังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจ ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุมคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษา และส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
“สถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ออกประกาศเข้ม 5 ข้อ ‘โรงเรียนต้องปลอดบุหรี่ไฟฟ้า’
- กรมศุลฯ เอาจริงนำเข้า-รับซื้อ บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มโทษปรับ 1 เท่าของราคินค้าพร้อมภาษี จากเดิมแค่ยึดของกลาง
- แม่สุดช็อก! ลูกสาว ป.3 สูบบุหรี่ ไฟฟ้า
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg