Politics

มรสุม ‘อนาคตใหม่’ หลังจบเลือกตั้ง

การเมืองขณะนี้ต้องบอกว่าร้อนแรงไม่แพ้กับอากาศประเทศไทยในปัจจุบัน ภายหลังปิดหีบนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็พบเรื่องราวมากมายถาโถมเข้าใส่ เปรียบคลื่นลูกใหญ่ซัดเป็นระรอก โดยเฉพาะสำหรับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เจอมรสุมการเมืองปะทะไม่แพ้กับอุณหภูมิประเทศ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ภาพ : Thanathorn Juangroongruangkit

ไล่เรียงตั้งแต่จบการเลือกตั้งก็ถูกยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ เริ่มจาก “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีการโอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ให้มารดาทั้งหมด เนื่องจากพบว่าดำเนินการแค่ 3 วันก่อนการเลือกตั้ง

ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ใน มาตรา 98 (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ที่ห้ามเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ประเด็นดังกล่าวมีโทษหนักทั้งทางอาญาและทางการเมือง เนื่องจากบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 151 คือ จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ กกต. ได้รับเรื่องไว้พิจารณา พร้อมทั้งทำหนังสือขอข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD เพื่อตรวจสอบตามข้อมูล รวมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน อีกทั้ง จะให้ ศรีสุวรรณ ในฐานะผู้ร้องมาให้ถ้อยคำในวันที่ 5 เมษายนนี้

ธนาธร15

ถัดมา สน.ปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มารับทราบข้อกล่าวหา จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 กรณี รังสิมันต์ โรม พร้อมพวกกลุ่มดาวดิน รวม 7 คน ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 5 คน ในข้อหามั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน ตามคำสั่ง คสช. ฉบับ 3/2558 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งมีโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน ทำให้จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมพวกกว่า 20 คน  มารวมตัวชุมนุมปิดล้อม สน.ปทุมวัน

“ภายหลังการชุมนุมยุติ ทางตำรวจ-ทหาร ได้ออกติดตามเพื่อจับกุมบุคคลที่มีหมายจับ ซึ่งขณะที่ตำรวจ-ทหารจะเข้าไปจับรังสิมันต์ แต่ไหววิ่งหนีขึ้นรถตู้ และจากการติดตามหมายเลขทะเบียนรถตู้คันดังกล่าว พบเป็นของ ธนาธร ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นผู้ครอบครอง  อีกทั้ง ในวันเกิดเหตุ ธนาธร ได้สังเกตการณ์อยู่ภายนอก และมีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของการออกหมายเรียกครั้งนี้” ทีมกฎหมาย คสช. ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทางฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับผู้ดูแลเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเผยแพร่คลิป “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค ที่ได้แถลงข่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

นายปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท -140,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีนี้ ปิยบุตร ได้ส่งหลักฐานชี้แจงต่อพนักงานสอบสวนบก.ปอท.แล้ว

ทั้งหมดเป็นเพียงภาพรวมเบื้องต้นซึ่งต้องรอดูว่าจะมีอะไรจากนี้อีกหรือไม่ แต่ก็นับว่าเป็นมรสุมการเมืองที่อาจส่งผลต่อพรรคอนาคตใหม่ แบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight