มหาดไทยแจงกรณีที่ประชุมพิจารณา พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 ตั้งข้อสังเกตงบ อปท. ยังไม่ถึงเป้า 35% ระบุรัฐบาลกระจายทรัพยากรตามความจำเป็นของพื้นที่ ย้ำมีแผนพัฒนาประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ชัดเจน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษก กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (พ.ร.บ.งบฯ)วาระที่ 1 ในวันที่ 3 มกราคา 2567 ที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน หลายท่านได้อภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับรายได้ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นสัดส่วนรายได้ของ อปท. ที่ตามงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้รับการจัดสรรกว่า 810,031.7565 ล้านบาท คิดเป็น 29.06% ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ยังไม่ถึง 35% ตามที่ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 กำหนดไว้เป็นเป้าหมาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แม้สัดส่วนรายได้ของ อปท. ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่การดำเนินการจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ รัฐบาลได้มีการคำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรงบประมาณไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด ซึ่งในจำนวนนี้ก็พิจารณาถึงสัดส่วนการอุดหนุนให้ อปท. ที่ได้พิจารณาตามบริบทข้อเท็จจริงแต่ละพื้นที่ด้วย
ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ อปท. ทั่วประเทศ ได้มีแผนพัฒนารายได้ อปท. ที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ อปท. โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการพัฒนาและเป็นไปตามภารกิจที่ถ่ายโอนให้ อปท. ประกอบด้วยการผลักดันผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
- การจัดทำร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….เพื่อปฏิรูปโครงสร้างรายได้ที่จะมาจาก 4 รายได้ 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีท้องถิ่น, ภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาษีที่รัฐจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เงินอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ อปท.ยืนบนฐานรายได้จัดเก็บเองและมีอิสระมากขึ้น
- การพัฒนาระบบให้มีการนำเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้ในกระบวนการจัดเก็บภาษี เพื่อให้สามารถตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีได้อย่าง รวดเร็วและแม่นยำ ใช้ระบบบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ติดตามการจัดเก็บภาษีของธุรกิจที่มีศักยภาพ ให้บริการรับชำระภาษีแบบ One Stop Service
นอกจากนี้ การที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วโดยได้ยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ โดยใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน กฎหมายนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน ยังรวมถึง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดกลไกให้ อปท. สามารถจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสนอตรงไปสำนักงบประมาณได้โดยตรง ตามความจำเป็นของท้องถิ่นและพื้นที่ และจะได้รับเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้นด้วย
ที่ประชุมฯ ยังมีการอภิปรายในประเด็นอื่น อาทิ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อปท. ได้ประสบปัญหาบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ กระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นนี้ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในช่วงการถ่ายโอนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องบุคลากร ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน อปท. สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้โดยจ้างเหมาบุคลากรทางด้าน สาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่เกษียณอายุราชการ หรือที่ปฏิบัติงานในเอกชนมาให้บริการประชาชนไปพลางก่อนได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับสำนักงบประมาณในการจัดทำแนวทางแผนการสรรหาบุคลากรทดแทนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะได้และซักซ้อมความเข้าใจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามแผนดังกล่าวต่อไป
ทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์นั้น อปท. ที่รับการถ่ายโอนภารกิจหลายแห่ง ได้มีการจัดซื้อ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ เช่น รถทันตกรรมเคลื่อนที่ รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ เครื่องตรวจตาในผู้ป่วยเบาหวาน ติดตั้งระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในการได้รับบริการที่ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าเทียม และยังเป็นการแก้ไขปัญหาบุคลากรที่ขาดแคลนอีกทางหนึ่งด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เอกนัฏ’ เรียกร้อง สส. ช่วยกันผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 โดยเร็ว นำเม็ดเงินพัฒนาประเทศ
- ‘รมช.คลัง’ แจงชัดเหตุไม่มีงบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในงบประมาณรายจ่ายปี 67
- ‘ศิริกัญญา’ ฉะร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 67 ปัญหาเพียบ!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg