Politics

มองออก! ‘ส.ว.สมชาย’ เชื่อ ‘แจกเงินดิจิทัล’ ทำไม่ได้ ชี้ หวังยืมมือ ‘สภา-ศาล’ คว่ำ พ.ร.บ.กู้เงิน

“สมชาย แสวงการ” มองนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” เชื่อทำไม่ได้ ชี้รัฐบาลหวังยืมมือ “สภา-ศาล” คว่ำ พ.ร.บ.กู้เงิน

วันนี้ (11 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Somchai Swangkarn กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล โดยระบุว่า

แจกเงินดิจิทัล

เอกสารประกอบนโยบาย ที่พรรคเพื่อไทยยื่นชี้แจงต่อกกต. ระบุว่า ที่มาของเงิน ที่จะใช้ดำเนินการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท โดยจะใช้การบริหารงานงบประมาณปกติ และการบริหารระบบภาษี ได้แก่

  • ประมาณการรายได้ปี2567ที่เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท
  • ภาษีที่ได้เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท
  • การบริหารจัดการเงินกู้ 110,000 ล้านบาท
  • การจัดการงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

สรุปว่าที่มาของเงิน ไม่ใช่การดำเนินการตาม 4 ข้อข้างต้น หากแต่ชัดเจนว่าเป็นการ “กู้มาแจก” โดยการออก พ.ร.บ. เงินกู้ 600,000ล้าน ดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับรายงานที่เคยแจ้งไว้เป็นหลักฐานต่อ กกต.

ดังนั้น เป็นเรื่องที่ กกต. คงจะต้องตรวจสอบอีกครั้งให้ชัดเจนว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายใดบ้าง ทั้งที่มาของเงินไม่เป็นตามที่แจ้งต่อกกต. หรือจะเข้าข่าย “สัญญาว่าจะให้” หรือไม่

การเลือกวิธีการ จะตราเป็นกฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เพื่อเลี่ยงไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 นั้น อาจทำได้ แต่ก็หาใช่ว่า กฎหมายมาตรา 53 นี้ จะอนุญาตให้ทำได้ทุกกรณี เพราะมีเงื่อนไขกำกับไว้ชัดเจนว่า ให้ทำได้โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญคือ

  1. เร่งด่วน
  2. ต่อเนื่อง
  3. แก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ
  4. ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

สรุปว่า ไม่เข้าเงื่อนไขใด ๆ เลย ทั้งเรื่องความเร่งด่วน หรือความต่อเนื่อง เพราะจ่ายเงินออกครั้งเดียว 500,000 ล้านไม่ต่อเนื่อง มีที่ต่อเนื่องคือ การต้องใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ย หรืออ้างว่า เพื่อแก้วิกฤติประเทศ ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีวิกฤติร้ายแรง เช่น สงคราม โรคระบาดโควิด วิกฤติต้มยำกุ้ง ฯลฯ เหมือนอดีตที่ผ่านมา

แจกเงินดิจิทัล

ส่วนข้ออ้างที่ไม่อาจตั้ง พ.ร.บ. งบประมาณทัน ยิ่งเห็นชัดว่า ขณะนี้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่านเข้าสภาเลย จะอ้างว่า ตั้งงบประมาณไม่ทันได้อย่างไร

เว้นแต่จะตั้งไม่ได้ เนื่องจากผิดในหลักสำคัญคือ บริหารจัดการตัดลดงบประมาณไม่ได้ และไม่อาจเพิ่มโครงการเข้าไปรวมใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 ได้ เพราะจะเพิ่มงบประมาณปี 2567 มากขึ้น สูงกว่า 4 ล้านล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะผลักดันทุรังทำต่อ จึงต้องแตกออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท และพ.ร.บ. เงินกู้ 600,000 ล้านบาท

ลึก ๆ แล้ว คงมีการคาดหวังอาศัยให้คณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐสภา ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยโต้แย้ง และล้มนโยบายแจกเงินดิจิทัลนี้ ด้วยการคว่ำร่างพ.ร.บ.เงินกู้แทน  เหตุเพราะนโยบายที่เคยหาเสียงแล้วทำไม่ได้จริงกระมัง

#เลิกดันทุรัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo