Politics

เปิด 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตามีดีลข้ามขั้ว ลั่นตัวแปรสำคัญคือ ‘ภูมิใจไทย’

นักวิชาการ เปิด 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จับตามีดีลข้ามขั้ว ชี้ “เพื่อไทย” อาจต้องยอมกลืนน้ำลาย เหตุตัวแปรสำคัญคือ “ภูมิใจไทย”

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส. มาอันดับหนึ่งไปคุยนอกรอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งฝ่ายที่คงจะเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็คือ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล และอาจเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการคุยข้ามขั้ว เพราะต่อให้แลนด์สไลด์กันอย่างไร พรรคการเมืองอดีตฝ่ายค้านเดิม ก็ไม่น่าจะรวมเสียงกันได้เกิน 376 เสียง

จัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น จึงส่งผลให้ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล ก็ต้องไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เช่น ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทย แต่พรรคที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ก่อนก็คือ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ดูแล้วหากดึงมาร่วมตั้งรัฐบาล กระแสต่าง ๆ ที่จะย้อนกลับไปที่เพื่อไทยน่าจะเบากว่าที่จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคของสองลุง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ) หรือแม้แต่กับ ประชาธิปัตย์ แต่ก็คงไม่ง่ายเพราะอาจติดเงื่อนไขต่าง ๆ เพราะช่วงหาเสียงก็ลุยใส่กันเยอะ และต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงกันไว้สูงพอสมควร จนอาจเกิดกรณีงูกินหางทางการเมืองตามมาเช่น

“เพื่อไทย อาจต้องยอมกลืนน้ำลายบางส่วน เพื่อชวนภูมิใจไทยมาร่วมตั้งรัฐบาล ส่วนภูมิใจไทย ก็ต้องมาโดยอาจมีเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่แตะเรื่องแก้ 112 ที่ก็คือ พรรคก้าวไกล ส่วนก้าวไกล ก็ให้ร่วมกับภูมิใจไทยได้ แต่จะยื่นเงื่อนไขไม่ให้ภูมิใจไทยคุมกระทรวงสำคัญเช่น กระทรวงคมนาคม มันก็เป็นงูกินหางแบบนี้ ส่งผลให้การรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. มันจะไม่ง่าย” ดร.สติธร กล่าว

จัดตั้งรัฐบาล

3 สูตรจัดตั้งรัฐบาล

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ว่า ถึงตอนนี้มองไว้สามสูตร สูตรแรก คือ ฝ่ายพรรคการเมืองขั้วเสรีนิยมคือเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมเสียงกันแล้วแลนด์สไลด์เกิน 300 เสียง แล้วก็ไปชวนภูมิใจไทยมา โดยที่ภูมิใจไทยกับก้าวไกลตกลงกันได้ มาเป็นรัฐบาลร่วมกัน แบบนี้แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยคนใดคนหนึ่งได้เป็นนายกฯ อันนี้คือ scenario ที่ฝ่ายเสรีนิยมแลนด์สไลด์ และคุยกันลงตัว

แต่ scenario นี้ก็มีรายละเอียดย่อยอีกคือ ภูมิใจไทยเข้ามาโดยการดึงของเพื่อไทย แต่ฝ่ายก้าวไกลไม่โอเคด้วย แต่ก้าวไกลก็ไม่อยากให้ เพื่อไทยไปเอาพลังประชารัฐที่มีลุงป้อมมา ก้าวไกลก็อาจโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยเพื่อร่วมปิดสวิตช์ลุงป้อม แต่ก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาล

ส่วน Scenario ที่สองก็คือ ก้าวไกลไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย และไม่ร่วมโหวตแคนดิเดตนายกฯ ให้ด้วย ทำให้เพื่อไทย ต้องไปพึ่งพลังประชารัฐกับลุงป้อม แต่จำนวนเสียงก็อาจยังไม่พอ จนเผลอ ๆ เพื่อไทย ต้องไปขอแรงประชาธิปัตย์มาร่วมอีก และถ้ายังไม่พออีก ก็ต้องขอแรงลุงป้อมให้ดึง สว. มาร่วมโหวตให้ด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลผสมแบบ scenario ที่สองก็คือ เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยต้องบวกกับฝ่ายพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทยและอาจจะมีประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นรัฐบาล ซึ่ง scenario สูตรนี้ โอกาสที่เพื่อไทยจะต้องเสียแคนดิเดตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ โดยอาจจะมาจากคนใดคนหนึ่งจากพรรคการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสูตรนี้ ซึ่งภาษีสูงสุดก็น่าจะเป็น “พล.อ.ประวิตร”

จัดตั้งรัฐบาล

สำหรับ Scenario ที่สามก็คือ “ลุงตู่อยู่ต่อ” หมายถึงกระแสแลนด์สไลด์แรงก็จริง แต่ผลเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าจะแรงไปทางเดียว คือแรงไปในทางที่ว่า “ก้าวไกลไปตัดเพื่อไทย” จนทำให้เขตเลือกตั้งต่าง ๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีปัจจัยเช่นความเป็นบ้านใหญ่ มีผู้สมัครแข็ง ๆ มีกระสุนดี ๆ กลายเป็นผู้ชนะแทน คล้าย ๆ กับตอนเลือกตั้งปี 2562 กับพลังประชารัฐตั้ง 97 เขต ภูมิใจไทยก็สามสิบกว่าเขต ประชาธิปัตย์ก็สามสิบกว่าเขต รวม ๆ กันก็ร่วม ๆ ร้อยกว่าเขตเลือกตั้ง ที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันเขาเคยชนะในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว

จนทำให้พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลรวมตัวเลข ส.ส. กันแล้วหลังเลือกตั้งน่าจะไปได้ระดับ 220-225 เสียง ในสี่พรรคการเมือง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์) แล้วก็บวกกับพรรคเล็ก ๆ ที่สนับสนุนรัฐบาล เขาก็มีโอกาสตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพราะเกรงความเสี่ยง ก็อาจใช้วิธียื้อการตั้งรัฐบาลไปก่อน เพื่อหวังว่าจะมีคนย้ายขั้วจากฝ่ายเสรีนิยมมาร่วมในฝั่งนี้ เพราะตัวเลขมันห่างจาก 250 เสียงไม่เยอะเลย

“Scenario ที่สาม ก็จะมี 3.1 กับ 3.2 โดย 3.1 คือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปเลย แล้วก็ไปเสี่ยงเอา หวังว่าตั้งรัฐบาลได้แล้วจะมีคนยอมมาร่วมด้วย ด้วยการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ หรือคุยนอกรอบให้เสร็จก่อน แล้วตอนโหวตนายกฯ ก็มาโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่น่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ไปก่อนแล้วก็ตั้งรัฐบาล แบ่งเก้าอี้กันไป ที่ก็คือไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อยแต่เป็นรัฐบาลที่ไปได้งูเห่ามา โอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ก็จะอยู่ใน Scenario ที่สาม ที่ก็ยังไม่ปิดประตู เพราะต่อให้ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงมา 300 เสียง แต่ก็ยังขาดอีกร่วม 70 กว่าเสียง มันยังมีเงื่อนไขอีก จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย และทำให้พรรคพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าอยู่นิ่ง ๆ แล้วไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้พลิกเกมกลับมา” ดร.สติธร กล่าว

ขอบคุณที่มา : ไทยโพสต์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo