Politics

ละเอียดยิบ!! ‘กลาโหม’ กางข้อมูลงบกองทัพเตือนอย่าพูดลอยๆ

ละเอียดยิบ!! “พล.ท.คงชีพ” กางข้อมูลชี้แจงปมงบกองทัพ ชี้ไม่ต่างจากยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” พร้อมแนะนักการเมืองมาคุยกัน อย่าพูดลอยๆ

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงชี้แจงงบประมาณกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายตัดงบประมาณเหล่าทัพ ว่า กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 ทั้งในด้านการป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายใน การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ พิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติ พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ ขนาดของกองทัพเป็นไปตามสภาพของภัยคุกคาม และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆตามแต่รัฐบาล และสังคม เป็นผู้กำหนด โดยกระบวนการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ไม่แตกต่างจากกระทรวงอื่น ที่ต้องให้ความเห็นชอบและเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่มีอะไรผิดเพี้ยน หรือซ่อนเร้น โดยกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นอันดับ 4 รองจากกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง

คงชีพ ตันตระวาณิชย์4
ภาพจากเฟซบุ๊ค โฆษกกระทรวงกลาโหม

เดิมงบประมาณทั้งประเทศวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถึงปัจจุบันเพิ่มเป็นจำนวน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ปี 2536 ถึง 2541 อยู่ที่ 12.7% ของประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ถูกลดจนเหลือเพียง 6.5 ถึง 6.3%

อย่างไรก็ตามหลังปี 2549 งบประมาณเพิ่มเป็น 7.38% จนถึงปัจจุบันนี้ยังอยู่ที่ 227,126 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.57% ของงบประมาณประเทศ โดยปี 2549-2562 ก็อยู่ที่ประมาณ 7.59% ไม่ต่างจากยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่การเติบโตยังคงอยู่ที่เกณฑ์ 7% ซึ่งเป็นปกติไม่มีนัยยะพิเศษใด

“ช่วงเกิดวิกฤติ งบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดลงเหลือเพียง 6% จนทำให้ไม่มีงบประมาณในการฝึก งบประมาณในการใช้น้ำมัน ต้องใช้กระสุนสำรองในอัตราสงครามมาใช้ฝึก หรือแม้แต่การบำรุงยุทโธปกรณ์ ทำให้ยุทโธปกรณ์เสียหาย โดยเฉพาะนักบินที่เกิดวิกฤติสมองไหล เพราะไม่มีชั่วโมงบิน ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ทราบเรื่องนี้ดี และเมื่อผ่านวิกฤติไปแล้วเป็นช่วงฟื้นฟูในปี 2549-2551 ทำให้งบประมาณถูกปรับขึ้นมาเป็น 7.9%”

งบประมาณกระทรวงกลาโหม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการจัดทำงบประมาณที่มีการเติบโตตามผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ตามแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพที่ตั้งไว้ของประเทศไทย อยู่ในอันดับ 6 หรือ 7 ของประเทศในอาเซียน โดยอันดับ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ รองลงมา คือ บรูไน, เวียดนาม, มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ จะเป็นการรับรองภัยคุกคามตามห้วงระยะเวลา ต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยสมัย ป้องกันการสูญเสียอธิปไตย แต่ไม่ได้ทำมากเกินไป การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นการจัดหาที่เป็นไปได้ และดำรงสภาพในการป้องกันประเทศได้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องสร้างความพร้อมรบให้เพียงพอต่อการปฏิบัติได้ทันที เมื่อเกิดภัยคุกคาม ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม งบประมาณกระทรวงกลาโหม 49% เป็นงบรายจ่ายที่ให้กับบุคลากร อาทิ เงินเดือน สิทธิกำลังพล ด้านสวัสดิการของกำลังพล ซึ่งเป็นงบประจำอยู่แล้ว ส่วนอีก 20% เป็นงบประมาณด้านการเตรียมกำลัง การพัฒนายุทโธปกรณ์ การจัดตั้งหน่วยใหม่ ซึ่งเป็นงบในการจัดหายุทโธปกรณ์ 14.75% ซึ่งการจัดซื้อเป็นเรื่องของกองทัพในการผูกพันงบประมาณแต่ละปี เช่น โครงการเรือดำน้ำ ที่เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ รวมไปถึงการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อทดแทนของเก่าที่กำลังปลดประจำการ เช่น รถถังเอ็ม 41 ที่ใช้มานานตั้งแต่ยุคสงครามโลก หรือเฮลิคอปเตอร์ที่สหรัฐให้กับไทยมา 52 ลำ ที่ตอนนี้ใช้ได้แค่ 3 ลำ มีการซ่อมบำรุง แต่ก็มีสภาพเก่ามาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุก่อนหน้านี้ จึงมีความจำเป็นที่จัดหาใหม่

งบ
ภาพจากเฟซบุ๊ค wassana nanuam

“การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามแผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ซึ่งจะประเมินภัยคุกคาม ต้องจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อรบแล้วไม่แพ้ ไม่สูญเสียอำนาจอธิปไตย ซึ่งจัดหาตามเกณฑ์พื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ว่าปัจจุบันนี้อาวุธของกองทัพยังไม่ครบตามอัตรา จึงอยู่ระหว่างค่อยนำมาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยืนยันว่างบของประเทศ คือ ภาษีของประชาชน และทหารทุกคนก็เสียภาษีเช่นกัน อย่างผมก็ต้องเสียภาษีใน 1 ปี วงเงินที่ผมต้องเสียภาษี อยู่ในจำนวนประมาณ 2 เดือนของเงินเดือน จึง ไม่อยากให้มองว่าทหารนำภาษีของประชาชนมาใช้ งบประมาณในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้โปร่งใสมากขึ้นด้วยซ้ำ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณที่ออกมาใหม่ การจะใช้งบประมาณในโครงการใดเกินกว่า 1 พันล้านบาทต้องนำเข้า ครม. จัดหายุทโธปกรณ์ก็เป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล” พล.ท.คงชีพ กล่าว

งบ2
ภาพจากเฟซบุ๊ค wassana nanuam

เมื่อถามว่า ตามนโยบายของพรรคการเมืองหากกระทรวงกลาโหมถูกตัดงบ 10% จะส่งผลกระทบอะไรต่อกองทัพ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า มิติความมั่นคงไม่ใช่เรื่องการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย เนื่องจากกองทัพต้องมีงบประมาณในส่วนของช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ และทุกภัยที่ไม่ได้เกิดจากสงคราม ปัจจุบันก็มีมากมาย แต่เราพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นของประชาชนทุกคน หากข้อเสนอเป็นประโยชน์เราก็พร้อมรับฟัง

“อยากพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่อยากให้มีการพูดกับแบบลอยๆ หากนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ หรือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มีข้อมูลเสนอมา ตนก็พร้อมรับฟัง” พล.ท.คงชีพ กล่าว

Avatar photo