Politics

‘กกต.’ พบ ‘วิษณุ’ ทำความเข้าใจ ม.169 ยันไม่ได้คุยเรื่องวันเลือกตั้ง

“กกต.” พบ “วิษณุ” ทำความเข้าใจมาตรา 169 ยันไม่ได้คุยเรื่องวันเลือกตั้ง เมินพรรคการเมืองร้องเรียน ลั่นอย่าไปกังวลอะไรมาก ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภายหลังหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายในมาตรา 169 ทั้งเรื่องการลงพื้นที่หาเสียงในอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย

เลือกตั้ง

ครม. รู้ ประชาชนก็ต้องรู้เท่ากัน

สำหรับความเป็นไปได้ที่วันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคมใช่หรือไม่ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ตามกฎหมายคือไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน แต่ประเด็นคือจะเลือกให้เป็นวันหยุด ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เสนอความเห็นเรื่องวันเลือกตั้ง ส่วนวันหยุดยาว วันหยุดสั้นจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่นั้น กกต. มองว่า เป็นไปตามกฎหมาย ไม่รู้ว่าจะตกอยู่ในช่วงวันไหน ภายใน 45 วันและไม่เกิน 60 วัน

“การพูดคุยกับนายวิษณุวันนี้มีเรื่องเดียวคือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 169 ไม่ได้พูดคุยเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลหรือครม.ต้องควรรู้เท่ากับคนอื่น เพราะเรื่องของกกต.ไม่ใช่เรื่องครม. การกำหนดไทม์ไลน์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของ กกต. หาก ครม. รู้ คนอื่นก็ต้องรู้เท่ากัน ประชาชนก็ต้องรู้เท่ากัน” นายแสวง กล่าว

เลือกตั้ง

รอยุบสภาก่อน

เมื่อถามว่า หากพระราชกฤษฎีกายุบสภาประกาศในวันนี้ ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า หากประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาในราชกิจจานุเบกษาวันนี้ กกต. จะนัดประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันพรุ่งนี้ (21มี.ค.) ซึ่ง กกต. เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว และจะพิจารณาร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันรับสมัคร กำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขตเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่จะไปสมัคร

ส่วนวันสมัครจะเป็นวันที่ 3 หรือ 7 เมษายนนั้น ขอให้รอผลจากกกต.พิจารณา เพราะเป็นอำนาจของกกต. ซึ่งไม่ได้คิดต่างกับประชาชน ส่วนวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคมต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

เลือกตั้ง
นายวิษณุ เครืองาม

ส่วนมีหลายพรรคการเมืองร้องเรียนจะทำให้การเลือกตั้งสะดุดลงหรือไม่ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนายทะเบียน ได้ทำตามกฎหมาย​ทุกอย่างบนการแข่งขัน อย่าไปกังวลอะไรมาก ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ปล่อยให้เป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังคงให้ความคุ้มครองทุกคนที่ยังไม่ได้ทำความผิด

“ส่วนจะเก็บไว้เดำเนินการภายหลังหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่สามารถพูดล่วงหน้าได้ หากคนทำผิดก็ต้องผิด หากดีก็ดีแน่ ซึ่งทุกอย่างต้องไปดูที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยบางการกระทำ​ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเป็นการกระทำความผิดก็ได้ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่มาร้องและผู้ที่ถูกร้อง” นายแสวง กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo