General

ปรับแนวทางรักษาโควิด-19 ผู้ป่วยปอดอุดกั้น-หัวใจ-เบาหวาน เข้าถึงยาต้านไวรัสง่ายขึ้น

กรมการแพทย์ปรับแนวทางรักษาโควิด ผู้ป่วยปอดอุดกั้น-หัวใจ-เบาหวาน เข้าถึงยาต้านไวรัสง่ายขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เป็นตัวเลือกรักษากลุ่มนี้ คาดประกาศใช้วันนี้ 30 พ.ย.65

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ปรับปรุงแนวทางรักษาโรคโควิด- 19 ฉบับที่ 26 ซึ่งผ่านการพิจารณาของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโควิด 19 แล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ในวันนี้ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยฉบับล่าสุดที่มีการปรับเปลี่ยน ดังนี้
รักษาโควิด
1.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรครุนแรง จากเดิมที่มีรายละเอียดมาก ก็ปรับให้เป็นการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจแพทย์ หากต้องให้ยาต้านไวรัสก็อาจให้ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ได้ปรับเกณฑ์ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เพื่อให้เข้าถึงยาต้านไวรัสได้สะดวกขึ้นใน 3 กลุ่ม คือ
  1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ในระยะ 2 ขึ้นไป
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด Class 2 ขึ้นไป
  3. โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ปรับเป็นไม่มีระยะของโรคและเป็นโรคเบาหวานธรรมดา แพทย์สามารถให้ยาตามดุลยพินิจได้

สำหรับการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ ได้เพิ่มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาด้วย ซึ่งอาจให้ LAAB ตัวเดียวหรือให้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่นก็ได้ตามอาการหรือตามดุลยพินิจของแพทย์

นอกจากนี้ ยังปรับคำแนะนำการให้ยา โดยแพกซ์โลวิดควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ให้ยา 5 วัน 10 โดส เรมดิซิเวียร์ ควรเริ่มใน 5 วันตั้งแต่มีอาการ ให้ 3 วัน 3 โดส LAAB ควรเริ่มใน 7 วันตั้งแต่มีอาการให้ 1 โดส และโมลนูพิราเวียร์ควรเริ่มใน 5 วันตั้งแต่มีอาการ จำนวน 5 วัน 10 โดส

รักษาโควิด

สำหรับสถานการณ์โควิด กรณีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มากกว่า 70% เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีหรือรับวัคซีนน้อยกว่าเข็ม 3 และเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 เดือน และบางส่วนมีอาการแล้วไม่ได้สังเกตหรือไม่ได้ตรวจ คิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น หากมีไข้สูงลอย ไอมาก เริ่มหอบเหนื่อย ควรรีบมาโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบอาการจะเปลี่ยนแปลงเร็วจึงขอให้รับมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและดูแลรักษาได้ทันท่วงที

ส่วนสถานการณ์เตียงโควิดขณะนี้ ได้คืนเตียงไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว เหลือเตียงดูแลเฉพาะโควิด 7,564 เตียง ใช้ประมาณ 1,168 เตียง หรือใช้ 19.4% เฉพาะเตียงระดับ 2-3 ที่ดูแลกลุ่มปานกลางถึงรุนแรงใช้ประมาณ 35% แม้ช่วงปีใหม่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ประเมินว่าการใช้เตียงจนถึงปีใหม่นี้อาจจะไม่ถึง 50%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo