General

สปสช. โอนเงิน 1.1 หมื่นล้านบาทให้หน่วยบริการ ย้ำ ดีเลย์ลงนามหลักเกณฑ์กองทุนฯปี 66 ไม่กระทบสิทธิบัตรทอง

สปสช. โอนเงินค่ารักษาโควิดกว่า 1.1 หมื่นล้านบาทให้หน่วยบริการแล้ว ย้ำดีเลย์ลงนามหลักเกณฑ์กองทุนฯ ปี 2566 ไม่กระทบผู้มีสิทธิบัตรทอง 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. ได้โอนเงินค่าบริการโควิด-19 หลังจากได้รับอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 เพิ่มเติม ให้กับหน่วยบริการ 1,300 กว่าแห่ง เป็นเงินจำนวน 10,038.73 ล้านบาท

สิทธิบัตรทอง

ทั้งนี้ ประกอบด้วย ค่าบริการตรวจคัดกรอง 350.06 ล้านบาท ค่าบริการให้การรักษาใน รพ. 1,635.38 ล้านบาท ค่าบริการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว 8,053.29 ล้านบาท และในสัปดาห์นี้จะมีการโอนเงินค่าบริการโควิด-19 เพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการอีก 1,700 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 11,738.73 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหน่วยบริการได้อีก

สำหรับประเด็นร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีบริการด้านเสริมสุขภาพและป้องกันให้แก่ประชาชนไทยทุกคนนั้น

แม้ขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการลงนามจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จนอาจทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดผลกระทบกับหน่วยบริการและการให้บริการแก่ประชาชนนั้น

สปสช. ขอเรียนว่า ประเด็นนี้ไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการแก่ประชาชน หน่วยบริการยังคงให้บริการประชาชนตามปกติเช่นเดิม แม้ว่าการประกาศใช้หลักเกณฑ์ฯ ฉบับดังกล่าว อาจล่าช้ากว่าปกติไปบ้าง เนื่องจากมีการตีความกฎหมายที่ต่างกันว่า สิทธิในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมคนไทยทุกคนหรือเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง

สปสช.

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ได้มีการประชุมชี้แจงกับตัวแทนหน่วยบริการทั่วประเทศแล้วรอบหนึ่ง และวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 บอร์ด สปสช. ก็ได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางแก้ปัญหา และประธานบอร์ด สปสช.เองก็อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด

ดังนั้น เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีความชัดเจนว่า จะดำเนินการกับร่างหลักเกณฑ์ฉบับนี้อย่างไรต่อไป ซึ่งในกรณีที่ต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความชัดเจนจากคณะรัฐมนตรี ก็ไม่มีผลกระทบกับหน่วยบริการและประชาชน ประชาชนยังคงเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เหมือนเดิม

นพ.จเด็จ กล่าวย้ำว่า สิทธิในการรับบริการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิบัตรทองยังคงมีสิทธิอยู่เช่นเดิม สามารถเข้ารับบริการได้ตามปกติ เป็นคนละประเด็นกับเรื่องหลักเกณฑ์ฯ ที่เป็นกระบวนการบริหารจัดการระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการ ไม่เป็นเหตุให้ระงับสิทธิของผู้มีสิทธิได้

ขอสื่อสารไปยังหน่วยบริการต่างๆว่า ในระหว่างนี้ขอให้จัดบริการตามปกติ ส่วนประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ จะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo