General

อัพเดท!! ร้านยาดูแล 16 อาการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง มีแล้วกว่า 500 แห่ง จ่อเพิ่มเป็น 1,500 แห่ง

สภาเภสัชกรรม เผยความพร้อมร้านยา ดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 16 อาการกว่า 500 แห่ง เตรียมเพิ่มเป็น 1,500 แห่งทั่วประเทศ เช็ครายชื่อได้ที่นี่

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ร้านยาคุณภาพ สามารถดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สำหรับโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล

ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

ล่าสุด มีร้านยาที่ผ่านการอบรมแล้ว 800 แห่ง และได้นำรายชื่อขึ้นเว็บไซต์แล้วประมาณ 500 แห่ง อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้จะมีร้านยาที่ผ่านการอบรมรอบ 2 อีกกว่า 1,000 แห่ง รวมแล้วในอนาคตอันใกล้ จะมีร้านยาที่ให้บริการโรคทั่วไปกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถสังเกตร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้จากหน้าร้าน ที่จะมีสติกเกอร์ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือเข้าไปดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือ คลิก ที่นี่

ภก.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับ 16 กลุ่มอาการ ที่เภสัชกรร้านยาสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้นั้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ไอ หวัด มีน้ำมูก ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ตกขาว เป็นผื่นคัน อาการปวดกระดูก ข้อ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้หากไปโรงพยาบาลจะเสียเวลามาก ผู้ป่วยส่วนมากจึงมักจะเลือกมาที่ร้านยาแทน

ร้านยา

ดังนั้น เมื่อมีร้านยาที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช.แล้ว ผู้ป่วยก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองรับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถไปที่ร้านยาได้เลย

ในส่วนของขั้นตอนการเข้ารับบริการ ผู้ป่วยมาสามารถเดินไปที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้เลย โดยเภสัชกรจะขอบัตรประชาชนไปเสียบเครื่องอ่าน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นสิทธิบัตรทองหรือไม่ จากนั้นก็จะซักประวัติและจ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัวต่าง ๆ แต่หากเป็นอาการที่ไม่อยู่ใน 16 กลุ่มอาการ เภสัชกรก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ระบบของร้านยาจะมีแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูล โดยจะมีข้อมูลบอกว่า เจ็บป่วยอาการอะไรตรงกับมาตรฐานการรักษาในหมวดไหน มีรายการยาไหนบ้างที่สามารถจ่ายได้ เภสัชกรก็จะจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น เมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo