กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ รายที่ 11 เป็นชายไทยกลับจากกาตาร์ อยู่ระหว่างการติดตามอาการอีก 10 ราย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายใหม่ เป็นชายชาวไทยอายุ 40 ปี ไปประกอบอาชีพให้บริการนวดที่ประเทศกาตาร์
ฝีดาษลิง รายที่ 11
โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ด้วยอาการไข้ และมีผื่นที่บริเวณสะโพกมือแขน มีอาการป่วยตั้งแต่ก่อนเดินทางกลับไทย และในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เดินทางมาถึงประเทศไทย
เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นเข้าข่ายผู้ป่วยฝีดาษวานร จึงประสานส่งตัวมารักษาที่สถาบันบำราศนาดูร ผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อไวรัสฝีดาษวานร ถือเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 11 ของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม
5 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยสูงสุด
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันจำนวน 72,198 ราย พบใน 109 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป
ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา 26,594 ราย
- บราซิล 8,461 ราย
- สเปน 7,239 ราย
- ฝรั่งเศส 4,043 ราย
- สหราชอาณาจักร 3,654 ราย
มีผู้เสียชีวิต 28 ราย จากประเทศไนจีเรีย 7 ราย กานา 4 ราย บราซิล 5 ราย สเปน 2 ราย แคเมอรูน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย เบลเยียม 1 ราย เอกวาดอร์ 1 ราย อินเดีย 1 ราย ซูดาน 1 ราย คิวบา 1 ราย และเช็กเกีย 1 ราย
อยู่ระหว่างติดตามอาการ 10 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันของไทยรักษาหายแล้ว 10 ราย อยู่ระหว่างการรักษาและติดตามอาการ 1 รายคือรายนี้ จากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันจนครบกำหนด 21 วันแล้ว รวมจำนวน 59 คน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม และได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ ผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และอยู่ระหว่างการติดตามอาการผู้สัมผัส 10 ราย
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อม กรณีที่พบผู้สงสัยติดเชื้อหรือผู้มีอาการเข้าข่าย เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยัน รวมถึงห้องแยกกักกันโรคจนกว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะออก เพื่อการป้องกันการแพร่ของเชื้อ
และเน้นย้ำว่า ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานรได้ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสใกล้ชิดคนแปลกหน้า หรือไม่รู้ประวัติมาก่อน สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด เลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานร
ทั้งนี้ หากมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ด่วน! พบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ เพิ่มอีก 2 ราย ที่ภูเก็ต เป็นหญิงไทย และชายชาวเยอรมนี
- ‘XBB’ สัญญาณ ‘การระบาดระลอกใหม่’ กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ เสี่ยงอาการรุนแรง
- วัคซีนครบโดส+เข็มกระตุ้น ช่วยติดเชื้อ XBB เสี่ยงอาการรุนแรง น้อยกว่า BA.5 30%