General

รู้ทัน! กลโกงพัสดุ ไม่ได้สั่ง แต่มาส่ง เรียกเก็บเงินปลายทาง

เตือนภัยกลโกงพัสดุ ไม่ได้สั่ง แต่มาส่ง เรียกเก็บเงินปลายทาง เช็ค 2 วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงิน เช็คที่นี่!!

เตือนภัยกลโกงพัสดุที่มักจะเกิดขึ้น และขอให้ประชาชนตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า เช่น ตรวจสอบชื่อร้านค้า ประวัติการซื้อขาย ช่องทางการขาย และควรขอชื่อ หรือหลักฐานเพื่อยืนยันตัวตน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อบัญชีเงินฝากที่ต้องตรงกับชื่อในบัตรประจำตัวประชาชน หรือพิจารณาเลือกร้านค้าที่ลงทะเบียนขายสินค้ากับเว็บไซต์ที่มีการเก็บข้อมูลประวัติของผู้ซื้อ – ผู้ขายไว้

พัสดุ

รู้ทันภัยกลโกงพัสดุใน 3 รูปแบบ

1. ของผิดกฎหมาย

  • อย่าเซ็นรับพัสดุที่ไม่มีที่มาหรือไม่รู้ตัวผู้ส่งแน่ชัด
  • สังเกตชื่อผู้รับ-ผู้ส่งให้ดีว่ามีพิรุธน่าสงสัยหรือไม่
  • สอบถามเจ้าของพัสดุก่อนรับพัสดุแทนทุกครั้ง

2. พัสดุเก็บเงินปลายทางที่เราไม่ได้สั่ง

  • ต้องตรวจสอบว่าพัสดุนั้นว่าเราเป็นผู้สั่งจริงหรือไม่
  • สังเกตชื่อผู้รับ-ผู้ส่งให้ดีว่ามีพิรุธน่าสงสัยหรือไม่
  • สอบถามเจ้าของพัสดุก่อนชำระเงินปลายทางแทนทุกครั้ง

3. โทรมาหลอกเราว่ามีพัสดุจากต่างประเทศ และให้โอนเงินเพื่อรับพัสดุนั้นอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

พัสดุ

2 วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงิน กับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ไม่ได้สั่ง

  1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทนญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก แนะนำให้โทรสอบถามเจ้าตัวก่อนว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทางจริงหรือไม่ และต้องจ่ายเงินเท่าไร
  2. ดูข้อมูลที่อยู่และเบอร์โทรผู้ส่งบนกล่องพัสดุ แล้วให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งสินค้าอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร โดยส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม

สำหรับใครที่มั่นใจแล้วว่า สินค้าหรือพัสดุที่มีการนำมาส่งพร้อมเรียกเก็บเงินปลายทางนั้น ไม่ใช่ของที่คุณหรือคนในครอบครัวสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ สามารถปฏิเสธการรับของและจ่ายเงินได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายต้องมีการตกลงซื้อขายก่อนนิติกรรมถึงจะเกิด

เตรียมตัวก่อนแจ้งความ

ถ้ามีความประสงค์แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ส่งพัสดุเรียกเก็บเงินปลายทางทั้งที่ไม่ได้สั่งนั้น ให้ทำการเก็บหลักฐานก่อนแจ้งความ ดังนี้

  1. ถ่ายรูปกล่องหรือถุงพัสดุที่มีการนำมาส่ง เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความ และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
  2. จดชื่อนามสกุล พร้อมเบอร์มือถือของผู้นำพัสดุมาส่งไว้ เพื่อขอให้เป็นพยานในคดี กรณีที่สืบสวนแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด

ข้อมูลจาก : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร),ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo