General

พัฒนาวัคซีน RSV ไม่ง่าย หวั่นสร้างภูมิเข้าข้างไวรัส ทำอาการรุนแรง

“ดร.อนันต์” เผยผลวิจัยการพัฒนาวัคซีน RSV พบสร้างภูมิต้านทาน กลับเข้าข้างไวรัส ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่องการพัฒนาวัคซีน RSV ในกลุ่มเด็กเล็กที่สหรัฐ โดยระบุว่า

shutterstock 355300649

ช่วงปี 1966-1967 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการทดสอบวัคซีน RSV ในกลุ่มเด็กเล็ก โดยวัคซีนที่ทดสอบในสมัยนั้นเป็นวัคซีนเชื้อตาย คือ การนำไวรัส RSV มาทำให้เสียสภาพโดยใส่สารเคมี (Formalin) ซึ่งเป็นกรรมวิธีเดียวกันกับวัคซีนเชื้อตายชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ วัคซีนโควิด (แต่โควิดใช้สารเคมีชนิดอื่นแทน Formalin)

การทดสอบครั้งนั้นทดสอบในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 4 เดือน-9 ปี จำนวนประมาณ 220 คน เด็กที่ได้รับวัคซีนมีการตอบสนองค่อนข้างดี คือ สามารถตรวจแอนติบอดีต่อไวรัส RSV ได้ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเพียงพอต่อการป้องกันโรค

rsv1

แต่ข่าวร้ายคือ การระบาดของ RSV ในเวลาต่อมา พบว่าเด็กมีการติด RSV เยอะมาก และ เด็กกลุ่มที่ได้รับวัคซีนพบว่า มีอาการของโรคที่รุนแรงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเสียอีก

เด็กที่รับวัคซีนเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่า ภูมิที่สร้างขึ้นจากวัคซีนนั้น แทนที่จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในการป้องกันโรค กับ เป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างไวรัสทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

rsv

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีน RSV ในเด็กเล็กทำได้ยากขึ้นมาก ๆ  เพราะทีมนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องหาคำตอบให้ชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นในการทดสอบครั้งนั้น ความมั่นใจจะต้องสูงมาก ๆ ก่อนที่จะมีการยอมให้วัคซีน RSV ฉีดเข้าสู่ร่างกายของเด็กน้อยอีกครั้่งหนึ่ง

ข้อมูลในปัจจุบันเชื่อว่า การใช้สารเคมีไปทำลายเชื้อไวรัส จะเป็นการทำให้แอนติเจนสำคัญ ชื่อว่า โปรตีน F เสียโครงสร้างไป (จาก Pre-fusion ไป Post-fusion) ซึ่งโปรตีนที่เสียโครงสร้างนั้นสามารถไปกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีชนิดไม่ดี ที่นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันโรคแล้ว ยังช่วยให้ไวรัสติดเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น

rsv2

ปัจจุบันเทคโนโลยีของ Moderna สามารถสร้าง mRNA vaccine เพื่อสร้าง Pre-Fusion F ได้แล้ว และ ทำการทดสอบเฟส 3 ในอาสาสมัครมนุษย์ แต่ยังเป็นวัคซีนที่ทดสอบในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก ซึ่งในเด็กน้อยยังไม่ได้ทดสอบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo