General

ปีนี้ ไทยพบโรคติดเชื้อ RSV แล้ว 2,341 ราย แนะวิธีสังเกตอาการ ตามนี้

กรมควบคุมโรค เผยตั้งแต่ต้นปี พบผู้โรคติดเชื้อ RSV จำนวน 2,341 ราย ห่วงเด็กเล็กเชื้อลุกลาม แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน วิธีสังเกตอาการ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (สิงหาคม-พฤศจิกายน) มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV)

โรคติดเชื้อ RSV

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 กันยายน 2565 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 1,445 ราย มีผลตรวจพบโรคติดเชื้อ RSV  จำนวน 131 ราย หรือ 9%

ทั้งนี้ ตรวจพบเชื้อพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อยู่ที่ 58) โดยพบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่

สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี-มิถุนายน 2565 พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นอาร์เอสวี จำนวน 2,341 ราย

โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ติดต่อได้จากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก

ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ 1
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ขณะที่การติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็ก โรคมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด ทำให้เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมาได้

ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบเสียงหายใจมีเสียงหวีด เสียงครืดคราดในลำคอ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวีโดยตรง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

ดังนั้น ขอแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษาหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน เด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิด ป้องกันได้โดยการล้างมือบ่อย ๆ ล้างอย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก ไม่ใช้ภาชนะอาหารและของใช้ส่วนตัวร่วมกันผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น

ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo