สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ย้ำชัด “บัตรทอง 30 บาท” มีสิทธิประโยชน์ ครอบคลุม-ไม่ครอบคลุมอะไรบ้าง เช็คได้ที่นี่
วราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง สิทธิบัตรทอง 30 บาท ครอบคลุมอะไรบ้าง ว่า ประเด็นหลักๆของความหมายสิทธิประโยชน์ คือ 1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. วิธีการไปใช้บริการ 3. เรื่องการเบิกจ่าย ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ จะทำให้ประชาชนที่ไปรับสิทธิ์ใช้บริการได้อย่างสะดวกและตามที่กองทุนฯกำหนดไว้
สำหรับสิทธิประโยชน์ภายใต้บัตรทอง กฎหมายจะกำหนดพระราชฉับัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 3 โดยกำหนดคำว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ดังนี้
1. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2. ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
3. ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
4. ค่าบำบัดและการบริการทางการแพทย์
5. ค่ายาเวชภัณฑ์อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทางการแพทย์
6. ค่าทำคลอด
7. ค่ากินอยู่ในหน่วยบริการ
8. ค่าบริบาลทารกแรกเกิด
9. ค่ารถพยาบาลหรือ ค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
10. ค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
11. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
12. ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อการบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกำหนด
นอกจากนี้สิ่งที่เพิ่มเข้ามา หลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการรักษาสุขภาพ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปรับปรุงประกาศโดยจะมีเพิ่มเข้ามา อย่างเช่น
1. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกตามกฏหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
2. บำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดยกเว้นการดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
ล่าสุดในปี 2565 ที่เพิ่มบริการเข้ามา อาทิเช่น การตรวจมะเร็งช่องปาก การตรวจคัดกรองทาลัสสิเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การบริการผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ที่ติดบ้านติดเตียง การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด เป็นต้น
สิ่งที่ไม่ครอบคลุม เบิกไม่ได้
1. เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
2. การตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
3. การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
4. การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย
5. การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด
สำหรับสิทธิประโยชน์บัตรทองที่แตกต่างจากสิทธิประโยชน์ฉบับเดิม ตรงที่ไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม แต่ขยายครอบคลุมในการรักษาโรคที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน โดยไม่มีกำหนดเวลา ว่าต้องเกินกว่า 180 วันอีกแล้ว
ส่วนการใช้สิทธิบัตรทองใหม่ ประชาชนสามารถเข้ารักษาที่สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ได้ และกรณีมีความจำเป็นก็สามารถเข้ารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และไม่ถูกเรียกเก็บเงินเหมือนเดิม
หน่วยบริการปฐมภูมิ นั้น คือ บริการสุขภาพด่านแรกขอระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น โดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น และครอบคลุมในกรณีที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
ตัวอย่างเช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน, ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง คลินิกเอกชนในระบบบัตรทอง และคลินิกอบอุ่น เป็นต้น
วิธีการใช้สิทธิบัตรทองได้ดังนี้
1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้ารับการรักษา
2. แจ้งความจำนงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนรับบริการ
3. แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แสดงสำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- บัตรทอง ‘รักษามะเร็ง’ ครึ่งปีงบ 65 มีผู้ป่วยรับรักษาแล้วกว่า 6 แสนครั้ง
- สปสช. ดึงคลินิกเวชกรรม กว่า 2 พันแห่งในกทม. เพิ่มบริการใกล้บ้าน ‘สิทธิบัตรทอง’ เริ่ม 1 ต.ค.นี้
- ‘สปสช.’ ประสาน ‘กทม.’ ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง หลัง ‘รพ.มงกุฎวัฒนะ’ ยกเลิกสัญญา!