เปิดสถิติเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก 3.5 หมื่นคนตั้งแต่ต้นปี เป็นเด็กอายุแรกเกิด-4 ปี มากสุดกว่า 81% กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกัน สังเกตอาการป้องกันแพร่ระบาด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ส่งผลให้อากาศเย็นลง ประกอบกับสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็ก มีการเปิดภาคเรียนมาในระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเด็กมีการทำกิจกรรมที่รวมกลุ่มใกล้ชิดกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก และเฝ้าระวังการป่วยอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานศึกษาให้คัดกรอง และสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน
สำหรับสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-20 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วย 35,074 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-4 ปี (ร้อยละ 81.85) รองลงมาคืออายุ 5 ปี (ร้อยละ 9.38) และอายุ 6 ปี (ร้อยละ 3.75) ตามลำดับ
ทั้งนี้ โรคดังกล่าว สามารถติดต่อโดยตรงจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งจะพบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
วิธีสังเกตอาการ
- หากได้รับเชื้อระยะเริ่มต้นจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย
- ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น
- จากนั้นจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ
หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
แนวทางการป้องกันโรค
1. ผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้

3. ให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนฝ่ามือ
4. หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
5. สำหรับสถานศึกษาควรจัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
กรณีพบเด็กป่วย ขอให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว
ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก ที่ชื่อว่า วัคซีนป้องกันไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 สามารถป้องกันได้เฉพาะไวรัสสายพันธุ์เอนเทอโร 71 เท่านั้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มักพบได้บ่อย และก่อให้เกิดอาการรุนแรง
อย่างไรก็ตาม วัคซีนดังกล่าว ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก ชนิดอื่น เช่น ไวรัสคอกแซคกี่ ไวรัสเอคโค เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอยง’ เปิดที่มา อาการ ‘ไข้หวัดมะเขือเทศ’ จากไวรัส CA6 เหมือนโรคมือเท้าปาก ไม่รุนแรง หายเองได้
- เปิดเทอมต้องระวัง ‘โรคมือ เท้า ปาก’ กรมอนามัยแนะใช้หลัก ‘4 ร.’สกัด
- ทำความรู้จัก เตรียมป้องกัน ‘โรคมือเท้าปาก’ ล้างมือ เลี่ยงสถานที่แออัด