General

ระทึก!!ปรากฏการณ์ ป่าแตก ไวรัสจากสัตว์ป่า กระโจนสู่คน ตั้งแต่ ‘โควิด’ ถึง ‘เลย์วี’

ศูนย์จีโนมฯ เผยเหตุการณ์ “ป่าแตก” ไวรัสจากสัตว์ป่ากระโจนเข้ามาติดต่อสู่คนมากจนผิดสังเกตุ เร่งเตรียมพร้อมถอดรหัสพันธุกรรม ไวรัส “ลางยาเฮนิปาห์”  หรือ “เลย์วี”

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เผย เลย์วี ปรากฏการณ์ ป่าแตก ไวรัสจากสัตว์ป่า กระโจนสู่คน โดยระบุว่า

เลย์วี

ป่าแตก Zoonotic virus spillover

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี เตรียมพร้อมถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อตรวจจับไวรัส ลางยาเฮนิปาห์ (Langya henipavirus) หรือ เลย์วี (LayV) หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ในประเทศจีนแล้วกว่าสามสิบคน ด้วยเทคนิค Metagenomic NGS หรือ mNGS โดยใช้เทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมของไวรัสลางยาทั้งจีโนมขนาด 18,402 นิวคลีโอไทด์ จากผู้ป่วย 6 รายจากประเทศจีน (reference sequences) ที่แชร์บนฐานข้อมูลจีโนมโลก  GENBANK

ผู้เชี่ยวหลายท่านเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์ ป่าแตก หรือสาเหตุที่ ไวรัสจากสัตว์ป่ากระโจนเข้ามาติดต่อสู่คน อย่างต่อเนื่องในระยะนี้อย่างผิดสังเกต (Zoonotic virus spillover) เป็นเพราะมนุษย์ทำลายความสมดุลของสิ่งแว้ดล้อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ ทำลายป่า การรุกพื้นที่ป่าเพื่อเข้าไปอยู่อาศัย รวมทั้งภาวะโลกร้อนจากการใช้น้ำมัน ถ่านหิน จนเกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้ไวรัสที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่เป็น นักฆ่าเพื่อความสมดุล ซึ่งเดิมอาศัยและปรับสมดุลจำนวนประชากรของสัตว์ป่า จำต้องหาออกจากป่ามาปรับสมดุลกับมนุษย์

เห็นได้ชัดมากจากกรณีของไวรัสโคโรนา 2019 แพร่จากตลาดสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาสู่คนจนเกิดการระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6.4 ล้านคน

ไวรัสฝีดาษลิง เดิมก็เป็นไวรัสในสัตว์ จำต้องฝ่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ APOBEC3 จนเกิดการกลายพันธุ์ประดุจแผลเป็นฝั่งลึกบนจีโนมสังเกตุได้อย่างชัดเจน เพื่อระบาดเข้ามาสู่คน และก็ทำได้สำเร็จเกิดการระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

เลย์วีรายแรก

ล่าสุดไวรัส ลางยาเฮนิปาห์ ทำท่าจะแพร่ระบาดจากสัตว์ฟันแทะมาสู่คน และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นกับไวรัสฝีดาษลิง

นักวิทยาศาสตร์จากจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แถลงว่าได้ตรวจพบไวรัสลางยาเฮนิปาห์ หรือเลย์วี จากการสุ่มตรวจบรรดาผู้ที่มีอาการไข้ (febrile patients) ในภาคตะวันออกของจีน ที่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการเหนื่อยล้า ไอ สูญเสียความอยากอาหาร และปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีอาการผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด รวมถึงความเสียหายของตับและไต

ผู้เชี่ยวชาญพบว่า ไวรัสชนิดนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอันตราย นิปาห์ (Nipah) ที่พบในอินเดีย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40% แต่กลุ่มผู้ป่วยที่พบติดเชื้อ ไวรัสลางยาเฮนิปาห์ ยังไม่พบว่ามีอาการรุนแรง

ผู้ป่วยมีอาการคล้ายหวัดคือมีไข้ ไอ อ่อนเพลีย ปวดกล้าม เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดลง ในผู้ป่วยบางรายประสิทธิภาพการทำงานของตับถูกทำลายมาถึง 30-50% คาดว่าต้นตอของการระบาดหรือรังโรคมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนูผี เม่น และ ตุ่น

ทีมวิจัยของ 3 ชาติได้ใช้เทคนิค Metagenomic sequencing หรือ mNGS ในการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมพบ ไวรัสลางยาเฮนิปาห์จาก ตัวอย่างสวอปจากลำคอ ของผู้ป่วยรายแรก(index case) เมื่อปี 2561 เป็นสตรีอายุ 53 ปี ที่เมืองลางยา ในมณฑลซานตง

เลย์วี รหัสพันธุกรรม

จีโนมของไวรัสลางยา เป็นอาร์เอ็นเอ มีขนาดเล็กว่าไวรัสโคนา 2019 และไวรัสฝีดาษลิงมาก

ไวรัสลางยา จีโนมมีขนาด 18,402 นิวคลีโอไทด์ หรือเบส ในขณะที่ไวรัสโคโรนา 2019 จีโนมมีขนาด 30,000 นิวคลีโอไทด์ หรือเบส และไวรัสฝีดาษลิงมีจีโนมขนาดใหญ่มากประมาณ 196,858 นิวคลีโอไทด์ หรือเบส

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้ถอดรหัสพันธุกรรมส่งตรวจ จากการสวอปผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อ แต่ตรวจไม่พบจุลชีพ หรือไวรัสต้นเหตุ โดยอาศัยเทคนิค Clinical metagenomic next generation sequencing  หรือเรียกย่อ Metagenomic NGS (mNGS) มาตั้งแต่ปี 2562 ที่เริ่มมีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

mNGS เป็นเทคนิคการนำสารพันธุกรรมกรดนิวคลิอิกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอ  ของไวรัสและจุลชีพต่าง ๆ ที่ได้จากการสกัดจากตัวอย่างส่งตรวจมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อให้ทราบว่ามีจุลชีพหรือไวรัสชนิดใดอยู่ในตัวอย่างส่งตรวจบ้างและในสัดส่วนเท่าใด โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลไวรัสและจุลชีพอ้างอิงประกอบการวิเคราะห์

mNGS เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพสามารถระบุสายพันธุ์หลัก สายพันธุ์ย่อย ทั้งจุลชีพและไวรัส ได้อย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมงทันต่อการ ควบคุม ป้องกันและรักษา บรรดาโรคติดเชื้อ

ตรวจเลย์วี

การใช้งานทางคลินิกของ mNGS มีหลากหลายเช่น การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ การติดตามการระบาด การเฝ้าระวังการควบคุมการติดเชื้อ การเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา การกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และการค้นพบเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับตัวอย่างส่งตรวจ เช่น การสวอปจากลำคอ จมูก ช่องคลอด รูทวารหนัก น้ำไขสันหลัง เลือด สารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ ของเหลวในระบบทางเดินอาหาร และของเหลวจากตา เป็นต้น

ขณะนี้รหัสพันธุกรรมของไวรัสลางยา ทั้งจีโนมจำนวน 6 รายได้ถูกอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูล GENBANK  เป็นที่เรียบร้อย นักวิจัยทั่วโลกสามารถดาว์โหลดมาใช้ออกแบบชุดตรวจ PCR, ชุดตรวจจีโนทัป และใช้เป็นรหัสพันธุกรรมมาตรฐาน (reference sequence) เทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมที่ถอดรหัสได้จากสิ่งส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นไวรัสลางยาหรือไม่

อ่านช่าวเพิ่มเติม

Avatar photo