General

ผู้ว่าฯชัชชาติ ปันเคล็ดลับรักการอ่าน ‘ห้องสมุด’ เปลี่ยนชีวิตคนได้

ผู้ว่าฯชัชชาติ เผยนโยบาย กทม. พัฒนาเทคโนโลยีห้องสมุด ตอบสนองชีวิตคนกรุง พร้อมแบ่งปันเคล็ดลับรักการอ่าน 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ร่วมงาน นายอินทร์สนามอ่านเล่น ตอนสนาม กระชับมิตรและ เสวนากิจกรรม Inspire Talk สนามบันดาลใจ โดยมี นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวงลือศักดิ์ จักรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมงาน ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 เขตปทุมวัน

ผู้ว่าฯชัชชาติ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนสนใจการอ่านหนังสือมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากหนังสือเป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ในการประกอบการตัดสินใจ สำหรับการใช้ชีวิตในเรื่องต่าง ๆ

ดังนั้น ต้องสร้างนิสัยในการอ่านและส่งเสริมการรักการอ่านให้มากขึ้น สังคมก็จะมีความสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นที่น่ายินดีที่มีคนตื่นตัวในเรื่องการอ่านหนังสือมากขนาดนี้ในงาน

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีวิธีการอ่านหนังสือหลายรูปแบบ อาทิ หนังสือเสียง (Audiobook) รายการ Podcast หรือ e-book จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนหนังสือและผู้ผลิตหนังสือเอง ก็ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย

 

ง่าย ๆ เลยคือ อ่านในสิ่งที่คุณรัก คืออ่านไปสักประมาณ 4-5 หน้าแล้วมันรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง อ่านแล้วตอบโจทย์ มันก็จะรู้สึกอยากอ่านโดยไม่ต้องฝืนอ่าน

ชัชชาติ 2

ทั้งนี้ หากอ่านแล้วยังไม่ชอบ ก็ขอให้ผ่านหนังสือเล่มนั้นไว้ก่อน ในอนาคตอีกสักปีสองปีอาจจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา และหนังสือเล่มนี้ก็ได้แล้วค่อยกลับมาอ่าน เพราะเมื่อชีวิตคนมันเปลี่ยนไปหนังสือที่อ่านมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย

ผู้ว่าฯชัชชาติ เปิดใจว่า ตอนเด็กอ่านแต่การ์ตูน อ่านพลนิกรกิมหงวน อ่านต่วยตูน อ่านหนังสือสตรีสาร อ่านสกุลไทย เนื่องจากแม่ผมชอบอ่านสกุลไทย อ่านตลอดเลยจึงทำให้เราต้องมีหนังสือติดมือ หลังจากนั้นจึงทำให้เราคุ้นเคยกับการอ่าน และอ่านหนังสือได้หลากหลายมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้นอย่ากังวลว่าเราจะอ่านอะไร ขอให้อ่านในสิ่งที่เราชอบก่อน นั่นจะทำให้เรารักการอ่านและจะสามารถขยายไปสู่การอ่านหนังสือเรื่องอื่นไปได้

ปัจจุบัน กทม. มีโครงสร้างสำหรับรองรับการอ่านพอสมควร โดยมีห้องสมุดประมาณ 34 แห่ง มีบ้านหนังสืออีกเป็นร้อยแห่ง ซึ่งกทม.ต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องห้องสมุด เพื่อให้คนทุกคนเข้าถึงหนังสือได้

ชัชชาติ1 2

สำหรับห้องสมุดที่สำคัญที่สุดคือ ห้องสมุดที่อยู่ใกล้บ้าน เด็กและเยาวชนรวมถึงคนในชุมชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ โดยมีอาสาสมัคร หรือเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุด คอยให้คำแนะนำ และสอนหนังสือให้เด็กในชุมชน

กทม. จึงต้องสร้างห้องสมุดที่สวยงามมีคุณภาพ มีหนังสือดี ๆ ใกล้บ้าน และปรับตัวให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตของคนในกรุงเทพฯ เช่นอาจจะเปิดในเวลาที่คนเลิกงาน เปิดในวันหยุด มีการให้บริการอินเตอร์เน็ต WiFi เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มห้องสมุดเชิงรุกเป็นรูปแบบรถ Mobile Unit ให้มากขึ้นเพื่อเข้าสู่ชุมชน โดยหมุนเวียนไปตามชุมชนต่าง ๆ ให้เด็กในชุมชนสามารถยืมหนังสือแล้วหมุนเวียนนำมาคืนได้

พร้อมกันนี้ จะเพิ่มรูปแบบห้องสมุด E-Book มี E-Library คือห้องสมุดออนไลน์ ที่คนสามารถยืมหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องมาห้องสมุดเพื่อลดเรื่องการเดินทาง โดยการใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก ซึ่งกทม.ต้องพัฒนาการดำเนินการให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯในปัจจุบัน

ชัชชาติ 3

ห้องสมุดที่สวยที่สุดในชีวิตผม คือ ห้องสมุดชุมชนในชุมชน 70 ไร่ เขตคลองเตย ซึ่ง 3 ปีที่แล้วมีอาสาสมัคร ชาวฝรั่งเศสและชาวเวียดนาม สอนหนังสือให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่ห้องสมุดนี้ และมีเด็กคนหนึ่งเข้ามาใช้ห้องสมุดนี้ทุกเสาร์-อาทิตย์ สุดท้ายเด็กคนนี้เรียนจบปริญญาเอก และสามารถมีงานที่ดี ซื้อบ้านให้พ่อแม่ ประสบความสำเร็จในชีวิต

เพราะฉะนั้น ห้องสมุดสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เพราะมันไม่ใช่การอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่มันยังสามารถให้ความรู้ สร้างวิธีคิด สร้างพัฒนาการ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความหวัง สร้างความฝัน และสร้างพลังให้กับเราได้

สำหรับงาน นายอินทร์สนามอ่านเล่น ตอน สนามกระชับมิตร จัดขึ้นวันที่ 22–31 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00–22.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo