General

สะพรึง ‘กัญชา’ เสพแล้วติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า เร็วกว่าเหล้า 2.6 เท่า หวั่นคนเสพติดพุ่ง 3 เท่า

หมอเฉลิมชัย ยกงานวิจัยนอก พบผู้ใช้กัญชา จะติดง่ายและเร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า เร็วกว่าเหล้า 2.6 เท่า คาดหลังถูกกฏหมาย คนเสพติดพุ่ง 3 เท่า

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง เมื่อเริ่มใช้กัญชาแล้ว ผู้ใช้จะติดกัญชาง่ายและเร็วกว่าผู้ใช้บุหรี่ 5.4 เท่า ติดง่ายและเร็วกว่าดื่มสุรา 2.6 เท่า โดยระบุว่า

LINE ALBUM กัญชาปลดล็อคปล่อยนักโทษ ๒๒๐๗๐๗

ในขณะนี้ ประเทศไทยมีทั้งความสับสนและกังวล เรื่องการใช้กัญชาเป็นอย่างมาก

สับสนว่ากัญชาจะให้มีการเพาะปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย และใช้อย่างไรกันบ้าง จะเน้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น หรือจะเสรีไปจนถึงการให้ใช้เพื่อนันทนาการหรือบันเทิงด้วย

ซึ่งในขณะนี้ได้เกิดสูญญากาศของการใช้กัญชา นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้เกิดการเพาะปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย และใช้กัญชา ที่อาจจะเรียกว่าเสรีเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งต้องมีการเร่งเข้ามาควบคุมโดยการใช้กฎหมายทางอ้อม 2 ฉบับคือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องความเดือดร้อนรำคาญ และเรื่องสมุนไพรควบคุม

แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ความสับสนและกังวลเรื่องกัญชาคลี่คลายลง

จึงมีภาคส่วนต่างๆ ต้องทยอยออกประกาศ ระเบียบ ตลอดจนคำแนะนำเพื่อควบคุมเรื่องกัญชา ในองค์กร ในหน่วยงาน หรือกับบุคคลในความดูแลของตนเอง อาทิเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร ห้ามมีกัญชาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา

คณะแพทยศาสตร์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ห้ามมีกัญชาในบริเวณมหาวิทยาลัย

ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ห้ามมีกัญชาในสถานที่ของส่วนราชการนั้น

3 3

ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ได้ออกข้อแนะนำการห้ามใช้กัญชาในกรณีที่มีผลกระทบ

วันนี้จะมาวิเคราะห์ทบทวนประเด็นย่อย แต่มีความสำคัญมาก ประเด็นหนึ่งคือ ตัวกัญชาเอง ทำให้มีการเสพติดหรือไม่ ถ้าเสพติดได้ ความยากง่ายของการเสพติดกัญชามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเทียบเคียงกับการติดเหล้าและสูบบุหรี่

มีการกล่าวถึงงานวิจัย ( Lopez-Quintero ปี 2011 ) ที่บอกว่า เมื่อใช้กัญชาต่อเนื่องไปนานพอแล้ว จะทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดได้ (Dependence) แต่มีความสามารถที่ทำให้ติดน้อยกว่าเหล้าและบุหรี่ คือ กัญชาจะเสพติด 8.9% ติดเหล้า 22.7% ติดบุหรี่ 67.5%

แต่พบว่าในการวิจัยดังกล่าวนั้น เป็นการรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในช่วงที่กัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ที่เริ่มใช้กัญชา มีการใช้ด้วยความถี่และปริมาณน้อยเพราะผิดกฎหมาย ใช้ยาก จึงมีสถิติออกมาว่ากัญชาติดเพียง 8.9%

ในขณะที่เหล้าและบุหรี่ เป็นการใช้ที่ถูกกฎหมาย มีการแพร่หลายและยอมรับในสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่แตกต่าง ทำให้สถิติผู้ติดเหล้าและบุหรี่มีจำนวนมากกว่า จึงไม่สามารถนำตัวเลขของกัญชามาเปรียบเทียบกับเหล้าบุหรี่ในงานวิจัยดังกล่าวได้

และได้มีการวิจัยอีกหนึ่งการศึกษา (Feingold ปี2020) ซึ่งทำภายหลังงานวิจัยชิ้นแรกประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่แตกต่างกับงานวิจัยชิ้นแรกมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาโดยถูกกฎหมายได้ในบางส่วนบางประเด็น

ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ใช้กัญชานั้น เมื่อใช้ไปนานพอแล้ว จะมีผู้เสพติดมากกว่าถึง 3 เท่าคือ 27% เมื่อเทียบกับผู้เสพติดในช่วงที่กัญชาผิดกฎหมายที่มีตัวเลข 8.9%

นอกจากนั้น ในงานวิจัยชิ้นแรกในช่วงที่กัญชาผิดกฎหมายนั้น มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาที่ผู้เริ่มใช้ จนต่อมาก็เกิดการเสพติด โดยใช้ดัชนีว่ามีคนติด 50% หรือครึ่งหนึ่งของผู้ใช้กัญชาทั้งหมด ว่าจะใช้เวลาสั้นหรือยาวเพียงใด

หรือแปลว่าการใช้สารนั้น จะมีความสามารถในการทำให้ติดง่ายหรือติดยากเพียงใด

พบว่ากัญชาใช้เวลาเพียง 5 ปี

ส่วนเหล้าต้องใช้เวลา 13 ปี

บุหรี่ใช้เวลานานถึง 27 ปี

กัญชา 1

กล่าวคือ กัญชาใช้เวลาในการเสพติดสั้น หรือเสพติดง่ายกว่าเหล้า 2.6 เท่า และง่ายกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า

จึงสรุปได้จากงานวิจัยทั้งสองชิ้นว่า

1. เมื่อเริ่มมีการใช้กัญชาต่อเนื่องกันไปเป็นเวลาพอสมควร ก็มีการเสพติดได้

2. กัญชาใช้เวลาสั้นกว่าในการเสพติด โดยสั้นกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า และสั้นกว่าเหล้า 2.6 เท่า

3. กัญชาจะมีอัตราการเสพติดในช่วงที่ถูกกฎหมาย สูงกว่าช่วงที่ผิดกฎหมายถึง 3 เท่าตัว

4. การจะออกกฏหมายหรือข้อบังคับใดเกี่ยวกับกัญชา จึงควรนำข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับมิติทางด้านสุขภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม

แม้จะต้องนำมาตัดสินใจโดยมิติทางการเมือง ก็จะต้องเป็นการเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีข้อมูลครบถ้วนทันสมัย ไม่มีอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อน มีความกว้างขวางมากพอที่จะครอบคลุมทุกมิติ มีความลุ่มลึกในข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบในทุกด้านอย่างเพียงพอ

เราจึงจะได้กฎหมายที่ยังประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างดีที่สุด โดยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เมื่อใช้ประโยชน์สาธารณะเป็นหลักหรือจุดยืนในการพิจารณา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo