General

ศูนย์จีโนมฯ เปิดสาเหตุ ทำไม ‘ไวรัสฝีดาษลิง’ ยังไม่ถึงขั้นประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ

ศูนย์จีโนมฯ อธิบายสาเหตุที่ องค์การอนามัยโลก ตัดสินใจให้ไวรัสฝีดาษลิง ยังไม่ถึงขั้นประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง องค์การอนามัยโลก แถลงการณ์ระบาดของ ไวรัสฝีดาษลิง เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมีเหตุผล ดังนี้

ไวรัสฝีดาษลิง

ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

พบ ไวรัสฝีดาษลิง ที่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 3,500 คน ในกว่า 50 ประเทศ บ่งชี้ว่า มีต้นตระกูลไวรัสมาจากถิ่นเดียวกัน หรือจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกันเมื่อต้นปี 2565 ไม่ได้เป็นการระบาดมาจากหลายพื้นที่พร้อมกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการควบคุมจะกระทำได้ไม่ยาก พร้อมเน้นย้ำว่า WHO มีทั้งวัคซีนและยาพอเพียงสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ไวรัสฝีดาษลิง ที่เริ่มมีการระบาดใหญ่ในยุโรป เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาระหว่างคนสู่คน จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม(จำนวน 300,000 เบส) มาเปรียบเทียบกันด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงพบว่า มีต้นตระกูลร่วมมาจากพื้นที่เดียวกัน และน่าจะมาจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกัน

ฝีดาษลิง 2

สายพันธุ์และวัคซีน

ไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในขณะนี้ จากรหัสพันธุกรรมได้ถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า hMPXV-1A  ในส่วนของ สายพันธุ์ย่อย B.1 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับ กลุ่มไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ย่อย A.1 ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2018-2019

โดยสายพันธุ์ย่อย A.1 มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับไวรัสฝีดาษลิง hMPXV-1A ที่ระบาดเป็นโรคประจำถิ่นของไนจีเรีย ในเขตแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ 1%

อีกทั้งวัคซีนที่เรามีใช้ในปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกได้ดี แม้จะฉีดหลังจากได้รับสัมผัสเชื้อแล้วก็ตาม

ฝีดาษลิง2

สายพันธุ์ย่อย B.1 vs A.1

สายพันธุ์ย่อย B.1 มีสายวิวัฒนาการที่แยกตัวออกจากสายพันธุ์ย่อย A.1 โดยมีการวิวัฒนาการในรูปแบบจำเพาะ คือ TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA อันเกิดจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน APOBEC3 ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์

เอนไซม์ดังกล่าว จะกระตุ้นให้จีโนมไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเฉพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนทำให้จีโนมเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงส่วนใหญ่ ที่พยายามก้าวข้ามจากสัตว์มาติดยังมนุษย์ถูกทำลายลง

กลุ่มที่เหลือมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงการทำลายของโปรตีนดังกล่าว ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีการกลายพันธุในลักษณะเฉพาะตัว และอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงกว่า 50 ตำแหน่ง ทิ้งไว้เสมือนแผลเป็นให้สังเกตเห็นได้โดยง่าย จากการถอดรหัสพันธุกรรม แตกต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในปี 2017

ฝีดาษลิง1 1

สตรีและเด็ก

WHO กล่าวว่า ณ จุดนี้การระบาดยังจำกัดวงอยู่ในประเทศแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBTQ-Plus ของผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

แต่หลายประเทศในทวีปแอฟริกา ที่มีไวรัสฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น จะพบเห็นเด็กและสตรี ติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตในชุมชนเหล่านั้น ทำให้ทั้งโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันให้การสนับสนุนในการดูแล ป้องกัน รักษา รวมทั้งงานวิจัยอย่างเข้มข้นแก่แอฟริกาจากนี้ไป เพราะเห็นได้จากไวรัสโคโรนา 2019 และไวรัสฝีดาษลิงมิได้เป็นปัญหาเฉพาะถิ่นแต่เป็นปัญหาของคนทั้งโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo