General

ขสมก. แก้ปัญหารอรถเมล์นาน เริ่มจาก 27 เส้นทางวิกฤติเร่งด่วน ปรับแผนเดินรถทั้ง 107 เส้นทาง

ขสมก. เดินหน้าแก้ปัญหารอรถเมล์นาน เริ่มจาก 27 เส้นทางที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เกลี่ยรถวิ่งเย็น-ค่ำเพิ่ม พร้อมปรับแผน-ทดลองเดินรถตามแผนใหม่ 107 เส้นทาง

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในประเด็นรถโดยสารประจำทางขาดระยะ และรอรถโดยสารประจำทางที่ใช้ระยะเวลานาน

ขสมก.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ห่วงใยประชาชนและสั่งการให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เร่งตรวจสอบและแก้ไขทันที มิให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

จากการตรวจสอบแล้วพบว่า มีหลายปัญหาที่เป็นสาเหตุของเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เช่น รถโดยสารไม่เพียงพอ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารไม่พอเพียง หรือแผนการบริหารจัดการเดินรถไม่มีความเหมาะสมกับการปล่อยรถในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการแก้ไข ทั้งการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด การวิเคราะห์อัตรากำลังที่เหมาะสมกับจำนวนรถโดยสารประจำทางที่มีอยู่ รวมถึงการปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งการปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลานั้น ได้เริ่มดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแผนการเดินรถจะต้องนำปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง และทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับร่วมกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเริ่มจัดลำดับเส้นทางที่มีเรื่องร้องเรียนหรือที่สำรวจพบว่า เป็นเส้นทางวิกฤติเป็นอันดับต้นในการเริ่มดำเนินการ

กิตติกานต์ จอมดวง 1
กิตติกานต์ จอมดวง

จากการจัดลำดับเส้นทางที่ได้รับการร้องเรียน พบว่า มีประมาณ 27 เส้นทางมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากทั้งหมด 107 เส้นทาง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา จะเริ่มจากการเกลี่ยรถเมล์ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยในเส้นทางนั้น ๆ ในช่วงสาย-ช่วงบ่าย และนำรถเมล์ไปเพิ่มในช่วงเย็นและช่วงค่ำ เพื่อให้การหมุนเวียนรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้บริการ โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

หากเส้นทางใดที่มีระยะทางยาว หรือใช้ระยะเวลานานในการหมุนเวียนรถเมล์ จะต้องพิจารณาตัดเสริม หรือตัดช่วงเส้นทางให้รถเมล์สามารถหมุนเวียนกลับประจำการรับส่งประชาชนให้เร็วที่สุด มีความต่อเนื่องในการให้บริการ และลดปัญหาการขาดระยะของรถเมล์ได้

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลาแล้วเสร็จทั้ง 107 เส้นทาง และได้ทดสอบแผนการเดินรถด้วยการปล่อยรถตามความถี่ และจำนวนตามแผนการเดินรถที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการให้บริการ และจะประเมินสถานการณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับปรุงแผนให้มีความยืดหยุ่นและมีความเหมาะสมต่อไป

ส่วนประเด็นการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางใหม่นั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นหน่วยงานที่ประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งการจัดหารถใหม่ต้องใช้งบประมาณสูงในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือการเช่ารถ ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการในภาพรวมได้

ปัจจุบันรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีทั้งหมด 2,885 คัน ซึ่งมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5 – 25 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม

ผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม ได้จัดให้มีการซ่อมบำรุงมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 8-9 แสนคนต่อวัน ในการจัดให้มีบริการเดินรถเมล์ ประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน

จนกระทั่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางขนส่งของประชาชน มีผู้โดยสารเฉลี่ย ประมาณ 2-4 แสนคนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 17,000 เที่ยวต่อวัน

จนกระทั่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้ มีผู้โดยสารประมาณ 700,000 คนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน ผู้โดยสารน้อยกว่าก่อน COVID-19 ประมาณ 16% และมากกว่าช่วงสถานการณ์ COVID-19 ประมาณ 40%

พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มช่องทางการร้องเรียน ติชม และข้อเสนอแนะจากประชาชนผ่าน Facebook ขสมก. พร้อมบวก และ QR Code ที่ติดภายในรถเมล์ทุกคัน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการให้ดีที่สุดต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo