General

‘อาหารใส่กัญชา’ กินอย่างไรให้ปลอดภัย

การปลดล็อก “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติด ที่ทำให้สามารถนำมาจำหน่าย และบริโภคได้โดยไม่ผิดกฎหมายนั้น แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็มีรายงานออกมาเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับผู้ที่เกิดอาการข้างเคียง หลังจากที่เสพ หรือรับประทานอาหารใส่กัญชา และมีรายงานถึงผู้เสียชีวิตด้วย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือน และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย รวมถึง ประกาศของกรมอนามัยฉบับล่าสุด เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ให้คำแนะนำว่า อาหาร เครื่องดื่มแต่ละประเภทควรใส่กัญชาปริมาณแค่ไหน

อาหารใส่กัญชา

อาหารใส่กัญชา กินอย่างไรให้ปลอดภัย

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ประกาศของกรมอนามัย ฉบับล่าสุด มีการแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร จัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสียแทน

สำหรับข้อกำหนดอื่น ๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร ที่ใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร

เงื่อนไขที่ร้านอาหาร หรือผู้ขายอาหารต้องทำเมื่อขายอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ

  • จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
  • แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
  • แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
  • แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
  • แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ
    – เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม
    – สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน
    – หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
    – ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน
    – อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
  • ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

อาหารใส่กัญชา

อย่าใช้ช่อดอก

บีบีซี รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ หัวหน้าสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลในรายการมหิดล แชนแนล ว่า การใช้กัญชาในการปรุงอาหารของคนไทย ที่พบเห็นได้ทั่วไป หลัก ๆ คือ ประเภทน้ำซุป ในก๋วยเตี๋ยว ซึ่ง คำแนะนำข้อแรก คือ อย่าใช้ช่อดอก เนื่องจากมีปริมาณของสาร THC สูง

“เราเจอพะแนงไก่ใส่ช่อดอก แล้วน็อคมา บางคนบอกกินแกงไม่เป็นไร แต่คนสมัยก่อนเขาใส่ใบ”

สำหรับการทำอาหารประเภทน้ำซุป ตัวสารออกฤทธิ์ที่ใช้เป็นยาหรือว่าเป็นตัวสารเสพติด ละลายน้ำไม่ค่อยเก่ง มักจะใช้ใบสดไปต้มกับน้ำ แต่สามารถสร้างกลิ่นได้ดี โดยสูตรดั้งเดิมของคนไทยใช้ใบเป็นหลัก เช่น แกง พะโล้ ไข่เจียว บางร้านอาหารนำไปทอดกรอบ ซึ่งอาหารกลุ่มทอด ปริมาณสารจะออกมามากกว่าเมนูอื่น

โดยทั่วไป ในอาหารมีคำแนะนำในเบื้องต้นอย่าให้ถึง 5 ใบต่อวัน สำหรับผู้ไม่มีโรคประจำตัว และแต่ละคนจะทนต่อสารไม่เท่ากัน ให้ลองให้ปริมาณที่น้อยที่สุดก่อน
กัญชาในขนม

สำหรับคุกกี้กัญชา จะมีสารของกัญชาเยอะหรือไม่ ผศ.นพ.สหภูมิ บอกว่าในกลุ่มขนมแปรรูป ในต่างประเทศรัฐที่เปิดเสรีเพื่อสันทนาการ เน้นการใส่สาร THC ค่อนข้างเยอะ ซึ่งใช้ช่อดอกมาสกัดสารด้วยน้ำมันเพื่อให้ระเหิดตัว ทำให้ปริมาณของสารเข้มข้นมากและเป็นลักษณะคล้ายเนยหรือขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาแปรรูปเป็นเบเกอรี่ คุกกี้ บราวนี่ เป็นต้น

ผศ.นพ.สหภูมิ ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้ว ในรัฐที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ กำหนดปริมาณไว้ที่ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคสาร THC อย่าให้เกิน 5 มิลลิกรัม การกินหนึ่งครั้ง แนะนำกินปริมาณเท่านี้ แต่ในรัฐที่เปิดเสรีมากก็พบคุกกี้ที่มีปริมาณสาร THC เข้มข้น คือ 20 มิลลิกรัมต่อ 1 ชิ้น หากกินให้ได้หนึ่งหน่วยบริโภค ต้องตัดคุกกี้ออกเป็น 4 ชิ้น

หลักการบริโภคเพื่อการสันทนาการ จะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ กินแล้วต้องรอการดูดซึมในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงจะรับประทานชิ้นต่อไปได้

อาหารใส่กัญชา

ส่วนบราวนี่กัญชา ในประเทศเปิดเสรีกัญชา ถือเป็นของ “ฮาร์ดคอร์” ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ต้องแบ่งรับประทาน 16 ชิ้น เว้นแต่ละชิ้น 30 นาที เช่นกัน
คำแนะนำก่อนบริโภค

ปัญหาการรับสาร THC เกินขนาด มีพบในต่างประเทศเช่นกัน การใช้โดยทั่วไปฤทธิ์ของผู้บริโภค คือ ต้องการรู้สึกถึง อาการเคลิ้ม ๆ เมา ๆ แต่ถ้ามากเกินไป จะมีอาการเห็นภาพหลอน รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด ซึ่งจะเป็นอาการที่ไม่รู้ตัว หรืออาการใจสั่น มึนศีรษะ คลื่นไส้

“ฤทธิ์ที่เราเจอบ่อย ๆ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว คือ ชีพจรเร็ว ปกติคนเราชีพจร 60-100 แต่ แต่ที่เจอเร็วได้ถึงเกือบสองเท่าของพื้นฐานปกติ คือ 150-180 ครั้งต่อนาที กลุ่มที่มีโรคหัวใจเดิมจะทนกับอัตราขนาดนี้ไม่ได้” นายแพทย์จากมหิดล กล่าวถึงผลกระทบทางสุขภาพหากมีการบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

อีกกลุ่มอาการที่พบ คือ ความดันแกว่ง การไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อตัวเองได้ ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้ และอาการล้มหมดสติ

ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวว่า หากเริ่มมีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้รอ ให้ไปโรงพยาบาลทันที เพราะฤทธิ์กัญชาจากการบริโภคมีฤทธิ์นาน ต่างจากการสูบที่เพียง 1-2 ชม. ฤทธิ์จะหมดแล้ว

สำหรับคำแนะนำก่อนบริโภคสำหรับผู้ลองใช้ ผศ.นพ.สหภูมิ แนะนำ ต้องตรวจสอบร้านที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ สั่งเมนูมาตรฐานเพราะได้รับอนุญาตมาให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้ช่อดอก ส่วนการบริโภคขนม ต้องทราบที่มา ปริมาณของกัญชาที่ใส่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo