General

เปิดเส้นทาง #สมรสเท่าเทียม ก่อนชี้ชะตาในสภา หลังวิปรัฐบาลประกาศคว่ำ

#สมรสเท่าเทียม กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อวาน (14 มิ.ย.) จนถึงวันนี้ (15 มิ.ย.) หลังจากที่ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ออกมาบอกว่า ฝั่งวิปรัฐบาลมีมติที่จะคว่ำ ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ในช่วง 37 วัน ที่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากถึง 54,445 ความคิดเห็น และเมื่อดูจากเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังดึงร่างไปศึกษา 60 วัน ก็พบว่า หลายหน่วยงานตอบเห็นชอบกับหลักการเช่นกัน รวมถึง สำนักงบประมาณ ที่เห็นชอบ และยืนยันว่า ไม่มีข้อขัดข้องทางงบประมาณ

ส่วนกระทรวงการคลัง และ กรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นว่า ทำให้สถานะของบุคคลหลากหลายทางเพศเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกับชายหรือหญิง และเมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ ย่อมส่งผลต่อสิทธิในการได้รับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐของคู่สมรส แม้จะเป็นบุคคลเพศเดียวกันก็ตาม ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างไปจากร่างกฎหมายคู่ชีวิต ที่ยังไม่บัญญัติรองรับ

ก่อนที่ผลการโหวต จะออกมา ลองย้อนอดีตของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร กว่าจะฝ่าฝันมาถึงทุกวันนี้ได้

สมรสเท่าเทียม

18 มิถุนายน 2563: ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง (สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล) ต่อประธานสภา

2 กรกฎาคม-6 สิงหาคม 2563: สภาเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างสมรสเท่าเทียม เพียง 37 วัน มีผู้แสดงความคิดเห็นถึง 54,445 ความคิดเห็น แบ่งตามความเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนี้

นอกจากนักเรียน นักศึกษา อาชีพทั่วไปอื่น ๆ พบว่ามีคนในศาลยุติธรรมจำนวนถึง 114 คน สำนักงานอัยการสูงสุด 14 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 39 คน และมหาดไทย 44 คน ร่วมให้ความเห็น

ครม. ส่งร่างกฎหมายคู่ชีวิตประกบสมรสเท่าเทียม

8 กรกฎาคม 2563: ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายคู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมจัดทำ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) พิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร

15 ธันวาคม 2563: ครม. มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมวิปรัฐบาล ให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ กลับไปทบทวนหลักการความจำเป็นในการมีกฎหมายให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันและหลักศาสนา

9 กุมภาพันธ์​ 2565: สภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ส่งร่างพ.รบ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ที่กำลังเข้าสู่วาระ 1 ในสภา กลับไปให้ ครม. พิจารณาก่อน และรอผล 60 วัน

16 มีนาคม 2565: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ทำความเห็นว่า ครม. ไม่สมควรเห็นชอบรับหลักการ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดยมีการนำแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 กรณี ป.พ.พ. มาตรา 1448 เรื่องการสมรสทำได้เฉพาะหญิงชายเท่านั้น มาพิจารณาด้วย และเห็นว่า ควรตราเป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง ที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันมีการยึดถือหลักการตามวิถีธรรมชาติของมนุษย์ และวิถีชีวิตดั้งเดิม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคมไทยมาอย่างช้านานว่า การสมรสกระทำได้เฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น

สำหรับการวิเคราะห์ในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หากมีการใช้กฎหมายนี้ บุคคลที่เป็นข้าราชการที่สมรสกับคู่สมรสเพศเดียวกัน ย่อมมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2543 อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเบิกมากขึ้น จะส่งผลต่องบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภาระทางการคลังของประเทศได้

shutterstock 2164415515

ตัวอย่างหน่วยงานที่เห็นชอบกับหลักการ

  • สำนักงบประมาณ บอกเห็นชอบหลักการ และไม่มีข้อขัดข้องทางงบประมาณ
  • กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นชอบ เพราะสาระสำคัญส่งเสริมการก่อตั้งครอบครัวของบุคคล
  • กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เห็นชอบ และยืนยันว่า เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม เช่น ICCPR ที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประกันความเสมอภาคแห่งสิทธิ และความรับผิดชอบของคู่สมรสในการก่อตั้งครอบครัวโดยเท่าเทียมไม่แบ่งแยกชายหญิง
  • กรมองค์การระหว่างประเทศ ระบุว่า ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต เรียกร้องให้ไทยรับรองคู่สมรสเพศเดียวกัน หรือบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนรับรองการใช้ชีวิตคู่ในสถานะคู่สมรส
  • กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง เห็นว่าทำให้สถานะของบุคคลหลากหลายทางเพศเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกับชายหรือหญิง และเมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐของคู่สมรสแม้จะเป็นบุคคลเพศเดียวกันก็ตาม ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างไปจากร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่ยังไม่บัญญัติรองรับ

29 มีนาคม 2565: ครม. รับทราบผลการพิจารณาของกฤษฎีกา และเร่งให้กระทรวงยุติธรรมเร่งพิจารณาร่างกฎหมายคู่ชีวิต และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง (ฉบับกระทรวงยุติธรรม) แล้วเสนอ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว

20 เมษายน 2565: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเผย ได้ข้อสรุปหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและกลุ่มหลากหลายทางเพศ และกลุ่มศาสนา เกี่ยวกับร่างกฎหมายคู่ชีวิต พร้อมทั้งได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาวิจัย

30 พฤษภาคม 2565: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ความเห็นต่อวิปรัฐบาล กรณีร่างสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ด้านวิปรัฐบาลย้ำเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา และยินดีสนับสนุนการดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….

สมรสเท่าเทียม

7 มิถุนายน 2565: เพียง 1 วัน ก่อนที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ของสภา คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงยุติธรรม ร่างนี้รัฐบาลบอกว่ารับฟังความคิดเห็นทุกมิติแล้ว ผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ไม่ขัดข้อง เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

แต่รองโฆษกรัฐบาลก็ทิ้งท้ายว่า “สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่น ๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้”

8 มิถุนายน 2565: เลื่อนวาระการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกไปอีกสัปดาห์

14 มิถุนายน 2565: วิปรัฐบาล มีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 15 มิถุนายน

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า รัฐบาลมีมติไม่รับร่างของฝ่ายค้าน ดังนั้นฝ่ายค้านจึงจำเป็นต้องระดมสมาชิกอภิปรายแสดงเหตุผลอย่างเต็มที่ โดยใช้โมเดล ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว ร่วมกับกระแสสังคม ที่ต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo