General

‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ 31 พฤษภาคม ‘บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม’

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” ในความพยายามที่จะรณรงค์ให้เห็นอันตราย และโทษของบุหรี่ ที่มีต่อสุขภาพ กระตุ้นให้สิงห์นักสูบทั้งหลายลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ และกระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย หรือกฏหมายเพื่อควบคุมยาสูบ

WHO ระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ โดยวันงดสูบบุหรี่โลก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2531 และใช้คำขวัญว่า “Between tobacco and the health, choose health” หรือ “ระหว่างบุหรี่ กับสุขภาพ เลือกสุขภาพ”

วันงดสูบบุหรี่โลก

สำหรับในปี 2565 WHO ได้กำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกไว้ว่า “Tobacco: Threat to our environment” หรือ “ยาสูบ: ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” โดยมีเป้าหมาย เพื่อเน้นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากวงจรยาสูบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ การเพาะปลูก ผลิต และจัดจำหน่าย ที่ทำให้เกิดขยะก่อมลพิษ

ทั้งต่อแหล่งน้ำ ดิน ชายหาด และถนนหนทาง ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของสารพิษในดินและน้ำ ขยะก้นบุหรี่ รวมถึงไมโครพลาสติก และขยะจากชิ้นส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงต้นไม้เป็นจำนวนมากถูกตัดเพื่อแผ้วถางพื้นที่สำหรับการทำไร่ยาสูบ

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า การผลิตบุหรี่ ต้องใช้ต้นไม้ 1 ต้นในการผลิตบุหรี่ 300 มวน ขณะที่กระบวนการผลิตบุหรี่ 1 มวน ต้องใช้ปริมาณน้ำถึง 3.7 ลิตร โดยเฉลี่ยหากนักสูบ 1 คนเลิกสูบบุหรี่ได้ จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 74 ลิตรต่อวัน

นอกจากนี้ ชาวไร่ยาสูบเองก็ได้รับนิโคตินจากการสัมผัสใบยาในปริมาณสูง เทียบเท่าการได้รับจากบุหรี่ 50 มวนต่อวัน มีการประมาณการว่า แต่ละปีมีขยะก้นบุหรี่ถึง 4.5 ล้านล้านชิ้นถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม

วันงดสูบบุหรี่โลก

เขาบอกด้วยว่า บุหรี่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกสูงถึงกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค และขยะหลังการบริโภค

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรม และจากการสูบบุหรี่นั้น มหาศาลและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโลกที่มีทรัพยากรจำกัด และมีระบบนิเวศน์ที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ควรจะเลิกบุหรี่เพื่อรักษาสุขภาพ และรักษาโลก

รัฐบาลไทยเอง ก็ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ครอบคลุมถึง การประกาศบังคับใช้มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้พิมพ์คำเตือน และโทษของการสูบบุหรี่บนซอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2548 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีกฎหมายที่ใช้คุ้มครองสุขภาพประชาชน

วันงดสูบบุหรี่โลก

“บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เป็นคำขวัญสำหรับการรณรงค์ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกของไทยในปีนี้ โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีขยะก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งตามที่ต่าง ๆ มากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้น โดยเฉพาะตามชายหาด จะพบก้นบุหรี่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นจำนวนมาก

ก้นบุหรี่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยาก รวมไปถึงเศษยาเส้นที่หลงเหลืออยู่ เป็นมลพิษต่อชายหาด เพราะทำให้น้ำทะเลปนเปื้อน ซึ่งในต่างประเทศอย่างเช่น สหรัฐ มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ตามชายหาดหลายแห่ง

ขณะที่ สเปนกำหนดห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดทั่วประเทศ เพื่อลดขยะก้นบุหรี่ ที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับถึง 50,000 บาท ส่วนไทยก็เริ่มตื่นตัว และกำหนดห้ามสูบบุหรี่ตามชายหาดต่าง ๆ บ้างแล้ว

ทางด้าน พญ. โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า บุหรี่สร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำ โดยในทุกกระบวนการผลิตบุหรี่หนึ่งมวน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายจัดจำหน่าย การสูบและการกำจัด ต้องใช้น้ำถึงประมาณ 3.7 ลิตร

ถ้าทิ้งก้นบุหรี่ลงไปในน้ำ ประมาณ 96 ชั่วโมง ปลาส่วนใหญ่ในน้ำจะตาย ขณะที่ผืนป่าในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลก ถูกแผ้วถางเพื่อทำการเพาะปลูก และบ่มใบยาสูบ และต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการย่อยสลายก้นบุหรี่ ซึ่งมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ปนเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และก้นบุหรี่ ถือเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดและเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด

วันงดสูบบุหรี่โลก

วันงดสูบบุหรี่โลก รู้จักโทษของบุหรี่

การสูบบุหรี่นั้นถือเป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง ไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งสารอันตรายที่สำคัญ เช่น

  • คาร์บอนมอนอกไซด์

ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ หากได้รับจะเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ

  • นิโคติน

เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้เกิดการหลั่งอิพิเนฟริน ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจ เต้นเร็วกว่าปกติ และไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด (ก้นกรองไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดลงได้)

  • ทาร์ หรือน้ำมันดิน

เป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด, กล่องเสียง, หลอดลม. หลอดอาหาร, ไต, กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ โดย 50%  ของน้ำมันดินจะไปจับที่ปอด เกิดระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ

วันงดสูบบุหรี่โลก

ความเสี่ยงโรค 

  • ต้อกระจก

เนื่องจากสารพิษในบุหรี่จะเข้าสู่เลนส์ตา ทำให้ตาขุ่นมัว ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสมาก

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

บุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เกิดการตีบตัน หากมีการออกกำลังกายหนักๆ อาจมีโอกาสเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

  • โรคปอด

โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่ โดยจากข้อมูลพบว่าเพียงแค่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง สามารถมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า

วันงดสูบบุหรี่โลก

  • โรคทางเดินหายใจ

อาจมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอถี่จนไม่สามารถนอนได้

  • โรคถุงลมโป่งพอง

ทำให้หายใจขัด หอบ และหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ง่ายเช่นเดียวกัน

  • โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคตับแข็ง
  • โรคปริทันต์
  • โรคโพรงกระดูกอักเสบ

ข้อมูล: มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ASH THAILANDสสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth

49c372141a3623165f001b92657d036

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo