General

ด่วน!! ‘สหรัฐ’ เริ่มฉีดวัคซีน ‘ป้องกันฝีดาษลิง’ ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว

“หมอเฉลิมชัย” เผยสหรัฐ เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแล้ว เริ่มจากกลุ่มเสี่ยง สกัดการแพร่ระบาด

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง สหรัฐ ฉีดวัคซีนป้องกัน ฝีดาษลิง แล้ว เริ่มในกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ และคนทั่วไปที่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง โดบระบุว่า

ป้องกันฝีดาษลิง

จากสถานการณ์ฝีดาษลิง ซึ่งได้เพิ่มจำนวนประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนเป็นการติดเชื้อกันเองในแต่ละประเทศ โดยไม่มีประวัติการเดินทางมาจากแอฟริกา หรือการสัมผัสสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิดโรค

ในขณะนี้ทางสหรัฐ โดยผู้อำนวยการ USCDC ได้แจ้งว่า สหรัฐ เตรียมการรองรับการระบาดของฝีดาษลิงมานานนับทศวรรษแล้ว

โดยมีวัคซีนสองชนิด และยาต้านไวรัสอีกสองชนิด เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopox ซึ่งรวมทั้งฝีดาษลิงและฝีดาษคน

วัคซีนสองชนิดในขณะนี้ ประกอบด้วย

1. JYNNEOS เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ที่ไวรัสเพิ่มจำนวนไม่ได้ ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ขณะนี้มีสำรอง 1,000 โดส

2. ACAM 2000 เป็นวัคซีนแบบเดิมคือ เชื้อเป็นและเพิ่มจำนวนได้ ใช้วิธีสะกิดแบบปลูกฝี มีสำรองไว้ 100 ล้านโดส แต่วัคซีนนี้มีผลข้างเคียงมากกว่าวัคซีนชนิดใหม่ และยังไม่ได้ระบุว่าใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้

หมอเฉลิมชัย 1

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถป้องกันฝีดาษลิง (Monkeypox) ได้อย่างน้อย 85%

ทางการสหรัฐ ได้แนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน ฝีดาษลิงในกลุ่มเสี่ยงสูงแล้ว ได้แก่

1. บุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยฝีดาษลิงโดยตรง

2. บุคคลที่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยฝีดาษลิง

ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนปูพรมเป็นการทั่วไป เพราะฝีดาษลิงติดได้ยากกว่าโควิด-19 และขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยยังมีไม่มากนัก

ผู้ป่วยฝีดาษลิงเคสแรกในสหรัฐอเมริกา พบที่โรงพยาบาลทั่วไปของรัฐแมสซาชูเซตส์ ทางการสหรัฐ ได้ส่งวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว

เป้าหมายของการจัดการสถานการณ์ฝีดาษลิง

1. เร่งวินิจฉัย ทำการแยกกักตัว และรักษาผู้ป่วยโดยเร็ว

2. ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนและแยกกักตัวเช่นกัน

shutterstock 2158541861

โชคดีที่ระยะฟักตัวของฝีดาษลิงกินเวลานานเฉลี่ย 12 วัน (7-21 วัน) ทำให้การฉีดวัคซีนมีเวลาเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันขึ้น

จึงสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงและเกิดติดเชื้อแล้ว ถ้ายังติดเชื้อไม่เกิน 4 วัน วัคซีนก็จะสามารถฉีดป้องกันโรคได้

คงจะต้องติดตามสถานการณ์ฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า วัคซีนแบบใหม่จะมีจำนวนการผลิตมากน้อยเพียงใด และวัคซีนแบบเก่าจะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่อย่างไร

ส่วนยารักษา ก็คงจะต้องติดตามรายละเอียดกันต่อไปเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo