เด็กป่วย “ตับอักเสบเฉียบพลัน” เพิ่มสูงขึ้น สถาบันสุขภาพเด็กฯ เผยสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มีประกาศแจ้งเตือนจากองค์การอนามัยโลก พบว่า มีผู้ป่วยเด็กเป็นตับอักเสบเฉียบพลันเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี มีอาการท้องเสีย อาเจียน มักไม่มีไข้ ต่อมาพบว่ามีตับอักเสบรุนแรงตามมา
นอกจากนี้ ยังพบว่า 10% ของผู้ป่วยเกิดภาวะตับวายตามมา โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดเอ-อี
ทั้งนี้ หนึ่งในสามของผู้ป่วย ตรวจพบการติดเชื้อ Adenovirus และในผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ร่วมด้วย
สำหรับ Adenovirus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ละอองฝอยของสิ่งคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจ สัมผัสจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยมีเกือบ 50 สายพันธ์ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเด็กมักมาด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก
โดยทั่วไป Adenovirus ไม่ทำให้เกิดตับอักเสบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Adenovirus ในเด็กน้อยลง เนื่องจากการติดเชื้อลดลง
นอกจากนี้ ยังอาจมีการกลายพันธ์ของเชื้อ Adenovirus หรืออาจเกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด ทำให้ผู้ป่วยเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติเมื่อติดเชื้อ Adenovirus แล้วเกิดตับอักเสบรุนแรงตามมาได้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ตับอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของตับอย่างเฉียบพลัน
อาการตับอักเสบเฉียบพลัน
- อาการไข้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง
- ตัวเหลือง
- ตาเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
สาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลันในเด็ก อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ – อี ไข้เลือดออก ยา/สารพิษ ภูมิคุ้มกันทำลายตับ หรือโรคพันธุกรรมทางตับ เป็นต้น
สำหรับการรักษา ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนตับอักเสบเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus นั้น การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะตับวาย ผู้ป่วยมักมีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรับรู้ ซึมลง เลือดออกผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการติดเชื้อ adenovirus ในประเทศไทย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ผลการศึกษาพบ ‘ยาไวรัสตับอักเสบซี’ มีฤทธิ์รักษาโควิด-19
- ใครบอกก็อย่าเชื่อ ดื่มเหล้าป้องกันโควิด หมอบอกแล้ว ไม่ช่วย แถมเสี่ยงติดเชื้อ
- เป็นพิษต่อตับ! เตือนอย่ากิน ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ร่วม ‘ฟ้าทะลายโจร’