General

สงกรานต์เข้ม!! สธ.ตั้ง 3 ‘ด่าน’ สั่งจับเป่า ขยายผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด

เปิดมาตรการสงกรานต์ สธ. จัดเต็มจับเป่าเครื่องวัดเมา ตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด พร้อมเล็งทำต่อเนื่องหลังสงกรานต์

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน อยากให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข

สงกรานต์

ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลัก ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเอง และเพื่อนร่วมทาง เข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านพบญาติผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

เมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal รดน้ำขอพร รับประทานอาหาร ฉลองกันในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เพราะอาจนำเชื้อโรคกลับมาติดผู้สูงอายุในครอบครัวได้

ทั้งนี้ จะต้องมี 3 ด่าน คือ ด่านตัวเอง ด่านครอบครัว และด่านชุมชน ส่วนการควบคุมบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ทำผิดกฎจราจรนั้น ในอนาคตจะมีการดำเนินการคนที่ทำผิดกฎจราจรต่าง ๆ ให้มีการหักแต้ม และบันทึกข้อมูลไปที่ใบขับขี่ เป็นต้น

สาธิต
สาธิต ปิตุเตชะ

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาให้มีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทุกกรณีในช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2565) และในอนาคตจะให้มีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีอุบัติเหตุหรือการทำผิดกฎจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งจะเป็นทางเลือกกรณีหากไม่สามารถเป่าแอลกอฮอล์ได้ หรือ ณ จุดนั้นไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ที่ได้มาตรฐาน

หากปฏิเสธการเป่าให้สันนิษฐานว่า เมา ซึ่งการเป่าแอลกอฮอล์จากเครื่องที่ผ่านมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถใช้ในการดำเนินคดีได้

กรณีการขยายผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่ม จากเดิมที่จัดงบให้ดำเนินการในช่วง 7 วันอันตราย กรมควบคุมโรคจะเป็นฝ่ายจัดหางบประมาณเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง นอกเหนือจากช่วงเทศกาล

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณที่จะจัดหาผ่านกองทุนต่าง ๆ เบื้องต้นคาดว่าใช้ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี ขณะที่งบที่ใช้ช่วง 7 วันอันตรายอยู่ประมาณ 1-2 ล้านบาท

สาธิต1

อย่างไรก็ตาม กรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน และพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าพบก็จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเอาผิดกับผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด สำหรับผู้ใหญ่ต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากเป็นผู้ขับขี่สาธารณะต้องศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ได้ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง 10–84 ปี พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด 55% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo