General

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.สภาพัฒน์ ฉบับใหม่ ‘เปลี่ยนชื่อ ตัวย่อเดิม’

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้ชื่อย่อ “สศช.” เหมือนเดิม ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.นี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561

พ.ร.บ.สภาพัฒน์

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้ดังนี้

1. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.1 กำหนดให้มี “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ประกอบด้วยประธานสภาหนึ่งคนและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสิบห้าคน และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ก.พ.เลขาธิการ ก.พ.ร. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการสภา และให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาและเลขานุการ

1.2 ประธานสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี โดยผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

1.3 สภาสามารถมีมติให้เชิญปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการสภา โดยให้ผู้ที่ได้รับเชิญมามีฐานะเป็นกรรมการสภาสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

1.4 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.1 กำหนดให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงระยะเวลาห้าปี โดยต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ สภาพเศรษฐกิจและสังคมทั้งของโลกและของประเทศ

2.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละด้านตามกรอบของแผนพัฒนาฯ ทำหน้าที่ยกร่างแผนพัฒนาฯ และเสนอต่อสภาพิจารณา โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำมาประกอบการยกร่างด้วย

2.3 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแผนพัฒนาฯ โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวด้วย

3. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

3.1 กำหนดให้มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทำหน้าที่ดำเนินงานในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของสภา ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนพัฒนาฯ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

3.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการประสานการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นที่สภามอบหมาย

4. บทเฉพาะกาล

4.1 ให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพลางก่อน

4.2 ให้โอนบรรดาภารกิจ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปเป็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4.3 ให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามประกาศพระราชโองการ เรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. ‭2560-2564‬) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 ที่ใช้อยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ถือว่าเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ และยังให้คงใช้ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

Avatar photo