General

‘PM 2.5’ ตัวร้ายทำลายสุขภาพ แนะวิธีป้องกัน พร้อม เช็คค่าฝุ่น คลิกเลย!!

‘PM 2.5’ ตัวร้ายทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอด และ หลอดเลือดหัวใจ แนะวิธีป้องกัน พร้อม เช็คค่าฝุ่น ก่อนออกจากบ้าน

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ที่เรียกกันคุ้นปากว่า PM2.5 เริ่มกลับมาเยือนอากาศในบ้านเรา โดยเฉพาะในกรุงเทพ ปริมณฑล เมืองใหญ่ และ จังหวัดที่มีการเผาพืชผลทางการเกษตร เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และชลบุรี

PM 2.5

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า PM2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง

ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่เป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไปจะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ

แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย

กรุงเทพมหานครมีฝุ่นชนิด PM2.5 ที่เป็นมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติมากเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ความชื้นในอากาศสูงขึ้น ลมอับ แสงแดดยังไม่ได้เวลามาเยือน

ประกอบกับกรุงเทพฯ มีอาคารสูงจำนวนมาก ก็จะทำให้การไหลถ่ายเทอากาศในยามลมอับไม่ดี ไม่ต่างกับจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองแอ่งกระทะตามธรรมชาติ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “impaction” หมายถึง ฝุ่นขนาดเล็ก คือ PM2.5 ฟุ้งกระจายออกไปได้ยาก

PM 2.5

ฝุ่น PM2.5 ตัวร้าย ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทันทีทันใด

ทำให้ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังทุกชนิดมีอาการกำเริบ

ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการกำเริบ ทั้งนี้ ไม่นับผลระยะยาวที่มีอีกมากมาย

แนวทางการป้องกัน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นขนาดเล็ก ดังนี้ ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากแหล่งของกรมควบคุมมลพิษที่มีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น

ถ้าเห็นค่าปริมาณ PM 2.5 เป็นสีแดง แสดงว่าสูงเกินค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกที่ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

เมื่อเห็นแล้วควรหลีกเลี่ยงเดินทางออกจากที่พักอาศัยจนกว่าระดับจะลดลงมาเป็นสีส้ม ที่ยังพอจะยอมรับได้

ถ้าจำเป็นจะต้องเดินทาง สำหรับคนที่ไม่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกอาคาร โดยต้องสวมให้ถูกวิธีและกระชับกับใบหน้าส่วนปากและจมูกให้มากที่สุด

ถ้าเป็นคนที่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว ไม่ควรออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องไปโรงพยาบาลพบแพทย์ตามนัด ให้ใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งพอจะช่วยกรองเจ้าตัวฝุ่นร้ายขนาดเล็กนี้ได้ในปริมาณที่มากกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา พร้อมตรวจสอบว่าหน้ากากนั้นกระชับรูปหน้าดีแล้ว

PM 2.5

เช็คค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน

ก่อนออกจากบ้าน ควรตรวจสอบค่าฝุ่นแต่ละพื้นที่  เพื่อเตรียมตัวหรือหลีกเลี่ยงพื้นที่นั้น คลิกเลย!!

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo