General

สายเขียวรอเฮ!! อย. จ่อเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ กัญชา กัญชงเพื่อนันทนาการ

อย. เล็งขยายการใช้กัญชา กัญชง เพื่อนันทนาการ ชี้ต้องทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ย้ำเปิดเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ จำกัดอายุ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. ได้จัดทำร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….ควบคู่กับร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ยส.5) โดยเน้นการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และป้องกันการเอาไปใช้โดยไม่ถูกต้อง

กัญชา กัญชง

ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี 52 มาตรา 10 หมวด ประเด็นสำคัญคือ 1. เป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเชิงการแพทย์ ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย 2. พืชที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยสามารถนำต้นพืช และสารสกัดไปใช้ประโยชย์ ทั้งยา สมุนไพร เครื่องสำอาง กัญชงทำเสื้อเกราะ และส่วนประกอบหลายอย่าง

ทั้งนี้ มีการห้ามใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่เป็นพื้นที่กำหนด ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตก่อน ลักษณะเหมือนพื้นที่ Sandbox ที่มีข้อกำหนดชัดเจน เช่น ห้ามใช้ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หากป่วยผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายได้ เป็นต้น

สำหรับการพิจารณาพื้นที่แซนบ็อกซ์สำหรับ กัญชา เพื่อนันทนาการนั้น หากเป็นพื้นที่เฉพาะจะทำได้ง่าย ส่วนเรื่องการควบคุมก็จะมีการจำกัดอายุ โดยเอามาจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายบุหรี่ กระท่อม อายุ 20 ปี คือบรรลุนิติภาวะ ที่มีการตัดสินใจได้ และกำหนดว่าต้องออกกฎกระทรวงขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

ในขั้นตอนต่อไป จะต้องมีการทำประชาพิจารณา ส่งเข้ากระทรวงสาธารณสุข หาก รมว.กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ก็ส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะสามารถทำประชาพิจารณ์ได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม

เราบอกว่าห้ามนันทนาการ ยกเว้นพื้นที่เฉพาะ จริง ๆ อาจจะไม่ใช้มาตรานี้ก็ได้ แต่เราเปิดไว้ให้ อยู่ที่ว่าจะไปถึงหรือไม่ ส่วนการปลูกที่บ้านแล้วคงดูลำบากว่าจะเอาไปใช้เพื่อสันทนาการหรือไม่ แต่ก่อนปลูกก็ต้องมีการจดแจ้งก่อน

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดโทษตาม พ.ร.บ. เช่น ปลูกโดยไม่ได้จดแจ้งในจังหวัด มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ การผลิต จำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต กำหนดโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งเป็นโทษหนักสุดในพ.ร.บ เป็นต้น

ด้านภญ. ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด กล่าวว่า การกำหนดแซนด์บ็อกซ์ ขอให้ย้อนกลับไปที่หลัก พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ห้ามใช้เพื่อนันทนาการ แต่การเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อรองรับในอนาคต หากหลาย ๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป

ยกตัวอย่างเช่น หากกำหนดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้ ก็เพื่อใช้สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด แต่เลิกไม่ได้ จำเป็นต้องใช้อะไรมาแทนยาเสพติดตัวนั้น เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา จึงวางแซนด์บ็อกซ์ไว้ก่อน และต้องศึกษาจากโมเดลหลายประเทศมาปรับให้เข้ากับประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo