General

7 วันช่วงหยุดยาวปีใหม่ ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 9.39 ล้านคน

เผย 7 วันช่วงหยุดยาวปีใหม่ ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 9.39 ล้านคน เกิดอุบัติเหตุ 1,651ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 193 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประเมินผลการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 วันนี้ (12 ม.ค.) ผ่านการประชุม Video Conference โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

รถสาธารณะ

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 ระยะเวลารวม 7 วัน สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายของแผนใน 3 มิติ ได้แก่ มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติอำนวยความปลอดภัยในการเดินทาง และมิติด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาระบบขนส่งให้มีความคล่องตัวและปลอดภัยเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาวครั้งต่อไป

โดยสรุปได้ดังนี้ การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ พบว่า ประชาชนเดินทางทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบิน รวมจำนวน 9.39 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อาทิ จัดเตรียมการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอทั้งเที่ยวไปและกลับโดยไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เข้มงวดการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจตราและดูแลพื้นที่ให้บริการและตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน

IMG 0199

การเกิดอุบัติเหตุในระบบขนส่งสาธารณะในช่วงปีใหม่ พบมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระบบขนส่งสาธารณะ 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 2 คน รถไฟเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 3 คน โดยไม่มีการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางน้ำและทางอากาศ พร้อมนำกรณีอุบัติเหตุสำคัญมาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

สำหรับสถิติการเดินทางบนโครงข่ายถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีประชาชนเดินทางเข้า – ออกกรุงเทพมหานครบนถนนทางหลวงสายหลัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางด่วน รวมจำนวน 16.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

IMG 0200

นอกจากนี้ยังวางแผนบริหารจัดการจราจรอย่างทันสถานการณ์เพื่อประชาชนเดินทางอย่างสะดวก อาทิ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกงดขนส่งสินค้า และห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปวิ่งบนถนน 7 เส้นทางหลักของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ (Rest Area) และจุดตรวจบนถนนสายหลักทั่วประเทศ ให้บริการข่าวสารข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุในหลายช่องทาง ทั้งแอพพลิเคชั่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ และโทรศัพท์สายด่วน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด

ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม มีจำนวน 1,651ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 193 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,801 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การขับรถตัดหน้ากระชั้น และการดื่มแล้วขับ ตามลำดับ สำหรับยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และรถส่วนบุคคล/รถสาธารณะ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo