General

ข้าราชการหญิงได้เฮ!! เพิ่มสิทธิลาคลอดจาก 150 วันเป็น 188 วัน เช็ครายละเอียดด่วน

ข่าวดีข้าราชการหญิง ครม.เคาะสิทธิลาคลอดเพิ่มได้จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และให้ลาเพิ่มอีก 90 วันได้เงินเดือน 50% พร้อมไฟเขียวข้าราชการชาย ลาช่วยเลี้ยงลูกได้ 15 วัน ไม่ต้องหยุดติดกัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ

สิทธิลาคลอด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี

มาตรการดังกล่าวนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 17,366,400 คน  กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,082 คน และกลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน ภายใต้ 3 มาตรการย่อย ประกอบด้วย

IMG 20220111143429000000
รัชดา ธนาดิเรก

1. เพิ่มสิทธิลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง

จากระเบียบเดิมข้าราชการหญิง สามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน และข้าราชการหญิงที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน

ขณะที่มาตรการใหม่ ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือน 50% รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน

ทั้งนี้ การให้วันลาคลอด 6 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ควรให้บุตรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

2. ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

3. จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่

หลังจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะรับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคลลในส่วนราชการต่าง ๆ ปรับแก้ระเบียบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo