General

วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม รำลึกจุดเปลี่ยนสำคัญ ระบอบการปกครองไทย

วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น  “วันรัฐธรรมนูญ” เพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และการเมืองของประเทศ 

ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญนั้น ไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน  2475 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างยิ่ง ของระบบการปกครองไทย จากการที่ คณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน  ภายใต้การนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระมหากษัตริย์

วันรัฐธรรมนูญ

เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัย ที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ

เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเปนของข้าพเจ้าแต่ เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

วันรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญไทย

เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ สะท้อนถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ . รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (เขียนว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ระบบสองสภา แตกต่างจากในอดีตที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดให้ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง และการแต่งตั้งแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

วันรัฐธรรมนูญ

รายชื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 20 ฉบับ

  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519

วันรัฐธรรมนูญ

  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
  • รรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

วันรัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย

วงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลาง และถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” มีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางประกอบด้วยเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า

บริเวณลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบนรายรอบทั้ง 4 ทิศ สร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย มักถูกใช้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย นอกจากนี้ยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

วันรัฐธรรมนูญ

สิทธิ หน้าที่และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

การเป็นพลเมืองไทย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขนั้น บุคคลจะต้องเรียนรู้ สิทธิ เสรีภาพ และปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการเข้าใจความหมายของ สิทธิ เสรีภาพและหน้าที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สิทธิ หมายถึง อำนาจหรือผลประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง บุคคลอื่นจะละเมิดล่วงเกินหรือกระทำการใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลอื่นไม่ได้ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง

เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระในการทำของบุคคลหรืองดเว้นที่จะทำและการทำนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การเขียน เป็นต้น

หน้าที่ หมายถึง ภาระหรือความรับผิดชอบที่บุคคลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น หน้าที่รับราชการทหาร เสียภาษี ช่วยเหลือราชการตามกฎหมาย หน้าที่รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีโดยเสมอภาคกัน เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่าง มีศักดิ์ศรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิดและเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา

วันรัฐธรรมนูญ

กิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ

วันรัฐธรรมนูญ ของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ มีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา หน่วยงานราชการและประชาชนจะประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

ส่วนในสถานศึกษามักจัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมประชาธิปไตย เพื่อให้เด็ก และเยาวชนได้เห็นความสำคัญของวิถีประชาธิปไตย และความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo