สหภาพฯ รถไฟ ร่อนแถลงการณ์ ต้านปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง 24 ธันวาคมนี้ ลั่นหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ การรถไฟฯ
หลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า วันที่ รฟท.จะหยุดให้บริการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพง ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 โดยจะให้บริการสถานีสุดท้ายที่สถานีกลางบางซื่อ ในัวนที่ 23 ธันวาคม 2564
ล่าสุด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท ) โดย นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพฯ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
กิจการรถไฟไทย หรือ กรมรถไฟหลวง ได้ก่อกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระปิยมหาราช ซึ่งเกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่าน โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมาลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433
ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟ เพื่อให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว ที่พระองค์ท่านทรงเสด็จมากระทำพระฤกษ์ แซะดิน ตอกหมุด ตรึงรางรถไฟ ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2434 ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสว่า
เรารู้สำนึกแน่อยู่ว่าธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนย่อมอาศัยถนนหนทางไปมากันเป็นใหญ่เป็นสำคัญ ได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายชุมชนให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น เราจึงได้อุตส่าห์คิดจะทำทางรถไฟให้สมกำลังบ้านเมือง
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 พระองค์ทรงเสด็จมาในพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์จากสถานีกรุงเทพ ถึง สถานีอยุธยา คือการเดินรถไฟสายแรกเพื่อให้กิจการรถไฟฯ จารึกไว้ในประวัติศาสตร์แผ่นดินสยาม
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำพาสยามสู่ยุคแห่งการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกยึดครองจากชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2453 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459
สถานีหัวลำโพงจึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งในการเดินทางของประชาชนด้วยขบวนรถไฟ เป็นสถานีจุดเริ่มต้นและปลายทางในการเดินทาง เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่เคียงคู่กันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้
และเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอัจฉริยะภาพที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน กิจการรถไฟหลวง ให้กับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ใช้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้า สร้างความเจริญและโอกาสให้กับประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังจากเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางรถไฟบางซื่อ – หัวลำโพง ด้วย Application “Zoom” ว่า หลังจากที่ได้มีการเปิดใช้งานสถานีกลางบางชื่อเต็มระบบเพื่อเป็นศูนย์กลางประโยชน์ หารายได้ให้แก่การรถไฟฯได้ทั้งในกรุงเทพ และ ต่างจังหวัด
คำถามคือ ทำไมไม่ทำ มีผู้มีอิทธิพลมากบารมีกี่รายที่หาประโยชน์เข้ากระเป๋าพวกพ้องของตนเอง และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้มีการทุจริตคอรัปชั่นตามมาได้
หรือว่า การปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะเป็นขบวนการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การด้อยค่าความสำคัญโดยทำให้ภาพของการเป็นกิจการแห่งรถไฟสยามเลือนหายไป หากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นสถานีรถไฟได้อย่างไรกัน คงจะเหลือเพียงความเป็นหน่วยงานที่มีแต่หนี้สิน โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุผลที่มาของหนี้สินเหล่านั้น ว่ามาได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ??
พร้อมกับการยกเหตุผล (ข้ออ้างลอย ๆ) ขึ้นมาประกอบในการจะเอาที่ดินใจกลางเมืองจำนวน 120 ไร่ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานไว้เพื่อใช้ในกิจการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของการรถไฟฯ ไปยกให้นายทุนเอกชนเช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความเจริญและความอยู่ดีกินดีของคนในชาติมามากกว่า 120 ปีซึ่งประเมินค่ามิได้ คนที่คิดทำลาย คิดดีแล้วหรือ มันสมควรแล้วหรือ
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และขอแจ้งให้พี่น้องสมาชิก สร.รพท. คนรถไฟทุกท่าน รวมทั้งพี่น้องประชาชนผู้ที่รักความเป็นธรรม ในสังคมได้รับทราบ และได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมกันออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้การรถไฟฯหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งเป็นขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟ ฯ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์พระราชปณิธาน ของสมเด็จพระปิยมหาราชที่มีมาอย่างยาวนาน และทรงพระราชทาน กิจการรถไฟ ไว้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สร้างตำนานหน้าใหม่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สู่ศูนย์คมนาคมกลางเมือง-แหล่งท่องเที่ยว
- ‘ศักดิ์สยาม’ จี้การรถไฟฯ เร่งแผนพัฒนา ‘บางซื่อ-หัวลำโพง’ ปั้น ‘ฮับคมนาคมกลางเมือง’
- การรถไฟฯ แจง มี ‘บางซื่อ’ ไม่ปิด ‘หัวลำโพง’