General

ประกาศเตือนพายุดีเปรสชัน ‘โกนเซิน’ ฉบับสุดท้าย 7 จังหวัดระวังฝนถล่ม!!

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” ฉบับสุดท้าย 7 จังหวัดระวังฝนถล่ม ด้าน “มท.1” สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา “พายุดีเปรสชันโกนเซิน” ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 13 กันยายน 2564

เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (13 ก.ย. 64) พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” บริเวณชายฝั่งของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ประกาศเตือนพายุ

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไป มีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งต่อไป จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้

ประกาศเตือนพายุ

“มท.1” สั่งเตรียมพร้อม

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้การเตรียมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการ ดังนี้

  1. แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมแจ้งแนวทางการปฏิบัติและช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง และให้คณะทำงานของจังหวัด ติดตาม ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เตรียมพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
  3. เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการทั้งส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบอาหารเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
  4. หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19
  5. สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด

ประกาศเตือนพายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK